(12 ม.ค) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้วที่เครื่องบินโดยสารสายการบินแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย ประสบอุบัติเหตุตกในทะเลชวา พร้อมคนบนเครื่อง 162 ชีวิต ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบนเที่ยวบินมรณะลำนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญการบินได้ตั้งสมมติฐานเครื่องบินตกไว้ถึง 5 ทฤษฎี ดังต่อไปนี้
สมมติฐานที่ 1 เกิดภาวะแอโรไดนามิก สตอลล์ ขณะที่เครื่องบินบินเข้าไปในพายุ เป็นคำอธิบายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่า แอร์บัส เอ 320-200 ลำนี้ บินเข้าไปในพายุและเกิดอาการสตอลล์ หรือสูญเสียความสามารถในการยกตัวและบิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่เครื่องบินประสบกับกระแสลมที่เคลื่อนตัวขึ้นด้านบนอย่างกะทันหัน การสตอลล์ถือเป็นโชคร้ายสำหรับนักบินและผู้โดยสาร แต่ตามปกตินักบินส่วนใหญ่จะสามารถเพิ่มความเร็วในขณะที่จมูกเครื่องบินตกลง และทำให้เครื่องกลับมาบินต่อได้ แต่คำถามคือ เหตุใด QZ 8501 จึงไม่สามารถฟื้นตัวจากอาการสตอลล์ได้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า เครื่องตรวจวัดบางอย่างของเครื่องบินอาจได้รับความเสียหายจากพายุ ทำให้นักบินไม่รู้ตัวว่ากำลังอ่านค่าความเร็วหรือเส้นทางการบินที่ไม่ถูกต้อง บ้างก็เชื่อว่า นักบินหลายคนพึ่งพาระบบอัตโนมัติมากเกินไป และไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ เพื่อแก้ไขสถานการณ์กรณีเกิดอาการสตอลล์ หรือตอบสนองอย่างเหมาะสม เวลาเครื่องตรวจวัดเสียหาย
สมมติฐานที่ 2 เกิดอาการสตอลล์ขณะนักบินพยายามบังคับเครื่องหลบพายุ ผู้เชี่ยวชาญการบินบอกว่า หากนักบินเชิดหัวเครื่องบินมากเกินไปเพื่อหลบพายุ ก็อาจเกิดอาการสตอลล์ได้เช่นกัน ซึ่งจากการติดต่อครั้งสุดท้ายระหว่างนักบินกับหอควบคุมการบิน พบว่า นักบินขอเพิ่มเพดานบินจาก 32,000 ฟุต เป็น 38,000 ฟุต เพื่อหลบพายุ แต่ตามปกติเวลาเกิดพายุ นักบินควรนำเครื่องบินเข้าไปใกล้พายุมากกว่าการบินเหนือพายุ ซึ่งกัปตันชาวอินโดนีเซียบนเที่ยวบินนี้ถือว่ามีประสบการณ์การบินล้ำเลิศ ปัญหาเพียงแค่นี้เขาน่าจะแก้ไขได้ไม่ยาก
สมมติฐานที่ 3 เกิดน้ำแข็งเกาะจนสร้างความเสียหายแก่เครื่องยนต์ แต่สมมติฐานนี้มีน้ำหนักน้อย โดยบริษัท แอร์บัส แจ้งว่า ที่ผ่านมาเครื่องของแอร์บัสประสบปัญหาเรื่องน้ำแข็งเกาะจนเครื่องยนต์เสียหายหลายครั้ง แอร์บัสจึงปรับปรุงพัฒนาสร้างระบบต่อต้านการจับตัวของน้ำแข็งบนเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ลำนี้ จนยากที่น้ำแข็งจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
สมมติฐานที่ 4 มาตรฐานความปลอดภัยที่ย่ำแย่ อินโดนีเซียขึ้นชื่อเรื่องเครื่องบินมีมาตรฐานความปลอดภัยต่ำมาก โดยพบว่า QZ 8501 ขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาต และนักบินก็ไม่ได้รับรายงานสรุปสภาพอากาศก่อนนำเครื่องบินขึ้น ส่งผลให้มีการพักงานและไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบเรื่องนี้ไปหลายคน พร้อมสั่งยกเครื่องความปลอดภัยด้านการบินของอินโดนีเซียใหม่ทั้งหมด
และสมมติฐานที่ 5 เกิดระเบิดกลางอากาศ เครื่องขัดข้อง หรือถูกวางระเบิด ทำให้เกิดทฤษฎีที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้มากมาย ทั้งการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายของนักบิน หรือการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ส่วนสาเหตุเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ขัดข้องนั้น ถือว่าเป็นไปได้ยากมากที่สุด และเครื่องบินลำที่เกิดเหตุมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 6 ปี ซึ่งเร็วเกินไปที่จะเกิดความเสียหายเช่นนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่ก็เป็นไปได้ว่า อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากร่างผู้เสียชีวิตที่พบว่าไม่มีใครสวมเสื้อชูชีพเลย ซึ่งอาจหมายความว่า พวกเขาเผชิญหายนะโดยที่ไม่มีเวลาแม้แต่จะสวมใส่มัน ปริศนาดำมืดบนเที่ยวบิน QZ 8501 กำลังจะได้รับการไขให้กระจ่างจากกล่องดำบันทึกข้อมูลการบินบนเที่ยวบินมรณะลำนี้. – สำนักข่าวไทย
Credit : http://news.sanook.com/