ดินถล่มใกล้เหมืองหยกในเมียนมา พบผู้เสียชีวิตแล้วร่วม 100 ราย เป็นชาวบ้านที่เข้ามาหาเศษหยกจากกองดินที่เหมืองนำมากองทิ้ง คาดยอดเสียชีวิตอาจพุ่งกว่านี้ เพราะยังมีผู้สูญหายจำนวนมาก หนำซ้ำส่อยากตรวจสอบหาสาเหตุอย่างละเอียด เพราะอยู่ในเขตปกครองของกองกำลังรัฐคะฉิ่น
เหตุโศกนาฏกรรมในเมียนมาครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอาทิตย์ 22 พ.ย.ตามเวลาในไทยว่าเกิดเหตุดินถล่มบริเวณเหมืองหยก ในพื้นที่เมืองปากันต์ เขตปกครองรัฐคะฉิ่น ทางภาคเหนือของเมียนมา โดยเหตุร้ายเกิดขึ้นตั้งแต่บ่ายวันเสาร์ ซึ่งรายงานเบื้องต้นระบุชาวบ้านจำนวนมากกำลังขุดคุ้ยกองดินที่เกิดจากการทิ้งเศษดินเศษหินจากเหมืองหยกเพื่อหาเศษหยก จนกองดินสูงไม่ต่างภูเขาขนาดย่อม แต่จู่ๆกองดินเกิดการสไลด์ตัวลงมาทำให้ชาวบ้านถูกกองดินฝังกลบ ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยรุดเข้าช่วยเหลือค้นหาผู้ประสบเหตุ และพบร่างผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ ทั้งยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ พื้นที่เกิดเหตุดินถล่มเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ที่มักเข้ามาขุดคุ้ยหาเศษหยกที่อาจหลงเหลือจากการทำเหมือง อุบัติเหตุกองเศษดินหินถล่มครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของเมียนมา อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อตรวจพิสูจน์ความเสียหายอย่างละเอียดทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังรัฐคะฉิ่น
ด้านนายนิลาร์ มินต์ เจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นรัฐคะฉิ่น ระบุพบร่างผู้เสียชีวิตจากถูกกองดินและหินฝังกลบเพิ่มเติมจำนวน 11 ราย รวมกับที่พบแล้วก่อนหน้านั้นเมื่อวันเสาร์จำนวน 79 รายรวมสองวันพบศพแล้วกว่า 90 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประกอบด้วยหน่วยงานกาชาดเมียนมา เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและชาวบ้านอาสาสมัครในท้องถิ่น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้เพียงรายเดียว แต่ผู้รอดชีวิตคนดังกล่าวก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ข่าวแจ้งว่า อุตสาหกรรมหยกในเมียนมา เฟื่องฟูอย่างมาก เนื่องจากหยกพม่าถือเป็นหยกคุณภาพดีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หยกที่ได้เกือบทั้งหมดถูกส่งไปยังประเทศจีน ขณะที่อุตสาหกรรมหยกส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของอดีตรัฐบาลทหารพม่ากับเหล่านักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด ขณะที่ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาตินี้น้อยมาก
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รายงานของกลุ่มเฝ้าติดตามสถานการณ์โลก “โกลบอล วิตเนสส์” ประเมินมูลค่าการค้าหยกของพม่าช่วงปี 2557 อยู่ที่กว่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1,085,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตมวลรวมประเทศ หรือจีดีพี แต่ตัวเลขที่ถูกนำออกเปิดเผยสู่สาธารณชนเพียง 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 119,000 ล้านบาท หรือน้อยกว่าตัวเลขจริงมากราว 10 เท่า
Credit : http://www.thairath.co.th/