การทำลายเครือข่ายอุโมงค์ใต้ฉนวนกาซาและชายแดนอิสราเอล เป็นเป้าหมายหลักของปฏิบัติการทหารของอิสราเอลเพื่อทำลายยุทธศาสตร์สำคัญของฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ และประกาศมาตลอดว่าจะไม่ยุติปฏิบัติการรอบนี้จนกว่าจะทำลายอุโมงค์ฮามาสจนสิ้นซาก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในกาซาพุ่งเกิน 1,700 คน ไร้ที่อยู่หรือต้องอพยพออกจากบ้านกว่า 5 แสนคน มากกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรกาซา และอิสราเอลก็สูญเสียทหารแล้ว 66 นาย
การใช้อุโมงค์ใต้ดินเริ่มเมื่อประมาณกว่า 10 ปีที่แล้ว เพื่อลักลอบขนอาวุธเข้าไปในกาซาจากชายแดนอียิปต์ ก่อนทวีความสำคัญหลังจากฮามาสแตกหักกลุ่มฟาตะห์ กลุ่มที่ปกครองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือเวสต์แบงก์ และอิสราเอลควบคุมการเข้าออกฉนวนกาซาทั้งทางบก ทางทะเล และอากาศ อุโมงค์จากเมืองราฟาห์ ทางใต้ของกาซาติดกับอียิปต์ กลายเป็นเส้นทางนำมาซึ่งสินค้าที่พลเรือนต้องกินต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา วัสดุก่อสร้าง รวมถึงคอนกรีตและเชื้อเพลิง
ในช่วงรุ่งสุดขีด อุโมงค์นี้เคยเป็นน้ำเลี้ยงอัดฉีดเงิน 700 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของกาซา เป็นแหล่งงานของชาวปาเลสไตน์ร่วม 7,000 คน รายได้จากภาษีนำเข้าสินค้าผ่านอุโมงค์เป็นรายได้หลักของฮามาส ที่ถูกโดดเดี่ยวทางการทูตและเศรษฐกิจหลังชนะเลือกตั้งทั่วไปในปาเลสไตน์ตามครรลองประชาธิปไตย แต่หลังจากกองทัพอียิปต์โค่นอำนาจรัฐบาลกลุ่มภราดรภาพมุสลิม พันธมิตรสำคัญของฮามาส รัฐบาลใหม่ภายใต้กองทัพ ได้สั่งปิดหรือทำลายอุโมงค์เหล่านี้ เป็นสาเหตุหลักซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจในกาซาจนถึงปัจจุบัน
นักวิเคราะห์ทางทหารอิสราเอล กล่าวว่า อุโมงค์ใต้กาซามีสามแบบ ได้แก่ อุโมงค์ลำเลียงสินค้าระหว่างกาซากับอียิปต์ อุโมงค์ตั้งรับในกาซาที่ใช้เป็นศูนย์สั่งการและเก็บอาวุธ และเชื่อมต่อกับอุโมงค์ชนิดนี้ก็คืออุโมงค์เพื่อการจู่โจมข้ามแดน อิสราเอลระบุว่าพบอุโมงค์แบบหลัง 32-35 แห่ง กว่าครึ่งถูกทำลายแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีเหลืออีกราว 40 แห่ง
ในปี 2549 กลุ่มติดอาวุธของฮามาสใช้อุโมงค์ลอดชายแดนเข้าไปสังหารทหาร 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และจับอีกคนคือ พลทหารกิลาด ชาลิต มากักเป็นเชลยนานถึง 5 ปีก่อนทำข้อตกลงแลกกับนักโทษปาไลสไตน์นับพันคนในปีที่แล้ว
โครงการสร้างวงกตบังเกอร์ใต้ดินเชื่อมต่อกับอุโมงค์และทางเข้า-ออกหลายทาง ใต้เขตชุมชนในกาซา เริ่มขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเข้าปกครองกาซาของฮามาส ความซับซ้อนของอุโมงค์เหล่านี้จะว่าไปก็คล้ายกับแนวคิดของเวียดกง ที่ขุดอุโมงค์ในป่าของเวียดนามใต้ แต่คุณภาพของอุโมงค์ในกาซาดีกว่า กำแพงและเพดานเป็นคอนกรีต และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ค้างแรมได้
หากเป็นอุโมงค์สำหรับลอบขนสินค้าใต้ชายแดนติดกับอียิปต์ โดยมากมักจะมีขนาดใหญ่ ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกจำเป็นเพื่อให้การใช้งานคล่องตัว ขณะที่อุโมงค์เพื่อการแทรกซึมและสร้างเพื่อใช้ไม่กี่ครั้ง อาจมีความกว้างพอแค่นักรบคนหนึ่งเดินผ่านได้ อุโมงค์จำนวนมากเชื่อมต่อกันเพื่อเดินทางใต้ดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยพรางทางเข้าออกและทางออกหลายทาง ทั้งนี้ เพื่อให้การจู่โจมหน่วยทหารอิสราเอลทำได้จากหลายทิศทางก่อนหลุบหายลงไปใต้ดินเพื่อไปโผล่โจมตีจุดอื่นอีก
อัลจาซีรา รายงานว่า กองกำลังอัล กัสซอม ปีกอาวุธของฮามาส ได้สร้างพื้นที่ลับหลายแห่งในอุโมงค์สำหรับให้นักรบของตนสามารถอยู่ได้นานกว่าสัปดาห์ อาบู โอไบดา โฆษกอัลกัสซอม กล่าวว่า การเคลื่อนไหวในอุโมงค์เต็มไปด้วยอันตราย อาจถล่มลงมาลงได้ทุกเมื่อและเป็นเป้าโจมตีของอิสราเอล แต่อุโมงค์เป็นอาวุธเดียวของพวกเขา นักรบสามารถขยับจากจุดตั้งรับไปยังจุดรุกรบได้ในทุกสถานการณ์
เพื่อหลบซ่อนหูตาหน่วยข่าวอิสราเอล ทางเข้า-ออกอุโมงค์ส่วนใหญ่จึงอยู่ใต้พื้นบ้านคน มัสยิด โรงเรียน หรืออาคารสาธารณะ
การขุดอุโมงค์ทั้งเพื่อใช้ลำเลียงสินค้าและเพื่อจรยุทธ์ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน และกำลังแรงคนเป็นหลัก แทนการใช้เครื่องจักรไฟฟ้าหรือมอเตอร์ ที่จะส่งเสียงดังให้อีกฝ่ายล่วงรู้ คาดว่าแต่ละอุโมงค์ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปีจึงแล้วเสร็จ และใช้ทุนหลายล้านดอลลาร์
กองทัพอิสราเอลรู้ถึงแผนการฮามาส แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ส่องพื้นที่กว้างเพื่อตรวจจับอุโมงค์ที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินตัวคนมากนักและอยู่ลึกลงจากผิวดินไปไม่กี่เมตร ยังทำไม่ได้อย่างแม่นยำ อุโมงค์โดยมากที่ฮามาสขุดมีความลึกประมาณ 20 เมตร และต่อให้รู้ทางเข้า ทหารจะต้องปีนลงไปสำรวจทำแผนที่ว่าทางลอดนี้ไปไหนต่อ ตลอดทางคือความเสี่ยงถูกโจมตีและกับระเบิด เป็นเกมซ่อนหาแห่งความตาย
ชิมอน แดเนียล อดีตผู้บัญชาการหน่วยทหารช่างอิสราเอลช่วงปี 2546-2550 กล่าวว่า การค้นหาอุโมงค์เมื่อหลายปีก่อน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัจจุบันอิสราเอลได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจแหล่งก๊าซและน้ำมันมาใช้หาพิกัดอุโมงค์ ประกอบกับอุโมงค์รุ่นใหม่หาง่ายขึ้น เพราะติดระบบสื่อสาร ไฟฟ้า กำแพงซีเมนต์ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ช่วยให้เรดาร์หาง่ายขึ้น
อดีตนายทหารอิสราเอลระบุว่า “ดูเหมือนง่ายแต่ซับซ้อนเอาเรื่อง มันคือโลว์เทคที่ไฮเทคหาไม่พบ”
Credit : www.komchadluek.net