เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรีอังกฤษ “เดวิด คาเมรอน” ออกมาระบุในวันนี้ (14 พ.ย.) ว่ากำลังร่างกฏหมาย ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถยึดพาสปอร์ตจากบรรดานักรบญิฮัดชาวอังกฤษและห้ามไม่ให้พวกเขากลับเข้าประเทศหลังจากออกไปสู้รบในต่างแดน รวมถึงห้ามการลงจอดในประเทศสำหรับสายการบินที่ไม่ยอมตอบสนองต่อรายชื่อเขตห้ามบินของอังกฤษ
มีการประเมินว่าชาวอังกฤษหัวรุนแรงราวๆ 500 ราย ได้เดินทางไปสู้รบอยู่ในอิรักและซีเรีย ดินแดนที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
“เราเตรียมจะนำเสนอกฏหมายต่อต้านก่อการร้ายฉบับใหม่ในสหราชอาณาจักรในอีกไม่นานนี้” คาเมรอน กล่าวต่อรัฐสภาออสเตรเลีย ก่อนจะเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ จี20 ที่บริสเบน พร้อมทั้งบอกด้วยว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติในการรับมือกับปัญหานี้
คาเมรอน ระบุว่า กฏหมายนี้จะมอบอำนาจใหม่ให้แก่ตำรวจในสนามบินต่างๆ ให้สามารถยึดพาสปอร์ต ระงับการเดินทางของผู้ต้องสงสัย รวมถึงหยุดยั้งการเดินทางเข้าประเทศสำหรับพลเมืองอังกฤษที่ไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของทางการ
“กฏหมายใหม่นี้ยังห้ามการลงจอดในสหราชอาณาจักร สำหรับสายการบินที่ไม่ให้ความร่วมมือต่อรายชื่อเขตห้ามบินและมาตรการคัดกรองเพื่อความปลอดภัย” เขากล่าว
ด้านสื่ออังกฤษพากันรายงานว่า กฏหมายนี้จะป้องกันไม่ให้บุคคลผู้เดินทางกลับมาจากอิรักและซีเรียเข้าสู่อังกฤษเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะยอมให้ความร่วมมือกับมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งอาจจะรวมถึงการถูกควบคุมตัวและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ต้องมารายงานตัวสม่ำเสมอและเข้าคอร์สบำบัดลดแนวคิดที่รุนแรง
สื่อระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนและตำรวจสนามบิน จะได้รับอำนาจในการยึดพาสปอร์ตจากกลุ่มคนต้องสงสัยว่าอาจจะมีแผนข้ามชายแดนเข้าไปก่อการร้าย
ออสเตรเลียที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกันกับอังกฤษ ก็ได้ยกเลิกพาสปอร์ตของพลเมืองตนเองไปแล้วอย่างน้อย 73 รายก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นเดินทางไปยังอิรักและซีเรีย เนื่องจากเกรงว่าคนเหล่านี้อาจจะเดินทางกลับมาแล้วก่อเหตุรุนแรงในประเทศบ้านเกิดของตนเอง
รัฐบาลแดนจิงโจ้ ระบุว่า มีชาวออสเตรเลียอย่างน้อย 71 รายที่ยังสู้รบอยู่ในอิรักและซีเรียขณะนี้ พวกเขาเหล่านั้นเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 15 ราย โดยที่ 2 รายในนั้นเป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย ทำให้รัฐบาลออสซีออกกฏหมายห้ามเดินทางไปยังพื้นที่ก่อการร้ายโดยไม่มีเหตุสมควร
อำนาจใหม่นี้อาจทำให้เกิดการถกเถียงกันในด้านกฏหมาย เนื่องจากเกรงว่าจะละเมิดเสรีภาพของประชาชน แต่คาเมรอนก็ยืนยันว่า จำเป็นจะต้องทำ
“เรารับฟังอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับคำแนะนำของตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เราได้คิดถึงเรื่องเสรีภาพของผู้คน เราคิดถึงเรื่องผลกระทบที่มีต่อประเทศอื่นๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้วผมก็ได้ตัดสินใจในสิ่งที่ผมเชื่อว่าจะทำให้อังกฤษปลอดภัย ผมคิดว่าอำนาจใหม่นี้มีความสำคัญขนาดนั้น” คาเมรอน กล่าว
คาเมรอน ระบุเพิ่มเติมว่า ในการรับมือกับภัยคุกคามของพวกหัวรุนแรง จะต้องจัดการกับรากเหง้าของปัญหานี้ด้วย
“รากเหง้าของปัญหาที่ท้าทายซึ่งเรากำลังเผชิญหน้าอยู่นั้น คือการถ่ายทอดแนวคิดที่รุนแรง ดังนั้นเราจะต้องจัดการกับพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ในทุกรูปแบบ” คาเมรอน กล่าว
“เราจะต้องแบนพวกผู้สอนศาสนาที่หัวรุนแรงออกจากประเทศของเรา เราต้องถอนรากถอนโคนพวกหัวรุนแรงออกจากโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งในคุก เราต้องทำงานร่วมกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ ผู้เกลียดชังคำสอนบิดเบือนที่คอยลวงหลอกคนของเรา” เขากล่าว
คาเมรอนยอมรับว่า ปัญหาวัยรุ่นมุสลิมกำลังถูกล่อลวงโดยกลุ่มหัวรุนแรงผ่านทางเฟซบุ้ค ทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ นั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“นั่นเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปดูแล เรามิอาจปล่อยให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นดินแดนที่ไร้การปกครอง แต่มันก็เป็นบทบาทหน้าที่ของบริษัทต่างๆ ด้วยเช่นกัน เรากำลังผลักดันบริษัทในสหราชอาณาจักรให้ดำเนินการมากขึ้น อาทิ เพิ่มการกลั่นกรอง ยกระดับกลไกในการรายงานสิ่งผิดปกติ รวมถึงเข้าควบคุมและจัดการกับข้อมูลล่อลวงที่เป็นภัยเหล่านี้” เขากล่าว
“เรากำลังคืบหน้า แต่มันก็ยังมีอะไรให้เราต้องทำกันอีกเยอะ” คาเมรอน กล่าว
เมื่อเดือนที่แล้ว สหภาพยุโรป เฟซบุ้คและทวิตเตอร์ เห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงบนโลกออนไลน์ โดยได้พูดคุยกันถึงขั้นตอนในการบล็อคบรรดาวีดีโอฆ่าตัดคอที่แสนน่ากลัว
ต่างจากบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหลายเจ้าในสหรัฐฯ ที่ดูจะไม่ง่ายนักในการขอความร่วมมือบล็อคเนื้อหารุนแรงบนโลกอินเตอร์เน็ต เนื่องจากพวกเขามองว่าตัวเองเป็นผู้ให้บริการแทนที่จะมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณชน แถมยังกังวลแต่เรื่องเสรีภาพในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มแข็งตามกฏหมายของอเมริกา
Credit : http://www.manager.co.th/Around