สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ รับรองการใช้ปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมเป็นอาหารคนแล้ว หลังจากตรวจสอบข้อมูลต่างๆเป็นเวลานาน ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากผู้ค้าในสหรัฐฯ…
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. สำนักงานอาหารและยา (เอฟเอดี) ของสหรัฐฯ รับรองการดัดแปลงพันธุกรรมปลาแซลมอนเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารมนุษย์แล้ว ถือเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมชนิดแรกที่ได้รับอนุญาตเช่นนี้ โดย เอฟเอดี ระบุว่า อาหารจากปลาชนิดนี้ปลอดภัยต่อการบริโภค
ทั้งนี้ บริษัทเทคโนโลยีชีวะภาพ ‘อควาเบาน์ตี’ (AquaBounty) ผู้อยู่เบื้องหลังการวิจัยดัดแปลงพันธุกรรมปลาแซลมอน ยื่นเรื่องต่อเอฟเอดี เพื่อขอให้แซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมเป็นอาหารของมนุษย์ครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย
แต่ล่าสุด ดร. เบอร์นาเดตต์ ดันแฮม จากศูนย์สัตวแพทย์ศาสตร์ของเอฟดีเอ เปิดเผยว่า “เอฟดีเอได้วิเคราะห์และประเมินข้อมูลที่ยื่นโดย อควาเบาน์ตี เกี่ยวกับ ‘อควาแอดวานเทจ แซลมอน’ (ชื่อการค้าของแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรม) และตัดสินใจว่าเพียงพอต่อการรับรอง และอาหารจากปลาชนิดนี้ปลอดภัยต่อการบริโภค”
เอฟดีเอ กำหนดด้วยว่าแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมจะต้องถูกเลี้ยงในแทงก์ที่อาคารในประเทศแคนาดาและปานามาเท่านั้น ขณะที่มาตรการความปลอดภัยยังกำหนดให้การผลิตปลาเหล่านี้ต้องเป็นหมัน เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธ์ุกับปลาในธรรมชาติในกรณีที่แซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมเกิดหลุดออกมา
ทั้งนี้ แซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมของอควาเบาน์ตี เป็นการนำแซลมอนแอตแลนติกฉีดด้วยยีนของแซลมอนชีนุคแปซิฟิก เพื่อให้มันเติบโตเร็วขึ้น โดยดร. รอน สโตติช ประธานคณะผู้บริหารของ อควาเบาน์ตี กล่าวว่า แซลมอนด์ของพวกเขาคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ที่นำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพมามอบให้แก่ผู้บริโภค ด้วยวิธีการที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างความเสียหายแก่ทะเลและสัตว์น้ำอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ค้าและผู้ซื้อในสหรัฐฯจะต้องการแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ โดยนา. ลิซา อาร์เชอร์ ผู้อำนวยการด้านแผนการเทคโนโลยีและอาหารของ ‘เฟรนส์ ออฟ ดิ เอิร์ธ’ (Friends of the Earth) เครือข่ายขององค์กรสิ่งแวดล้อมใน 74 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า แม้ เอฟเอดีจะให้การรับรองสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมเป็นอาหารของมนุษยชนิดแรกอย่างไร้ความรับผิดชอบ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่มีที่สำหรับแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมในตลาดสหรัฐฯ
ขณะที่ ดร.โจ เพอร์รี อดีตประธานคณะกรรมการจีเอ็มโอ (สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม: GMO) ของสำนักงานความปลอดภัยทางอาหาร ของสหภาพยุโรป ระบุว่า ยังมีความกังวลในด้านระบบนิเวศเกี่ยวข้องผลที่ตามมา หากแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมหลุกรอดเข้าสู้ธรรมชาติและแพร่พันธ์ุ
นอกจากนี้ ยังไม่แน่ชัดด้วยว่า ต้องใช้เวลานานเท่าใดเพื่อผลิตแซลมอลดัดแปลงพันธุกรรม ให้ได้จำนวนมากพอนำเข้าสู่ตลาด แต่ดร.อาลิสัน วาน อีเดนนาม นักพันธุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี
Credit : http://www.thairath.co.th/