ยอดเหยื่ออีโบลาจ่อ1,000ศพ-ไลบีเรียเข้าตาจนพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย

เอเอฟพี – ยอดผู้เสียชีวิตจากอีโลบาขยับเข้าใกล้ 1,000 ศพแล้วในวันพุธ(6ส.ค.) ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าการแพร่ระบาดของมันกำลังลุกลามไปยังไนจีเรีย ชาติที่มีพลเมืองมากที่สุดของแอฟริกา หลังจากพบผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ในหมู่ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน 7 คนที่เมืองลากอส ขณะที่สถานการณ์ในไลบีเรียเริ่มวิกฤตหนัก จนประธานาธิบดีต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสั่งสวดมนต์ภาวนาทั่วประเทศ

การลุกลามของโรคติดต่อนี้เกิดขึ้นขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO)จัดประชุมฉุกเฉินในเจนีวา เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการประกาศเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนานาชาติหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่าจะไมีมีแถลงประกาศการตัดสินใจใดๆต่อสาธารณชนจนกว่าจะถึงวันศุกร์นี้(8ส.ค.)

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยในวันพุธ ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ในแอฟริกาตะวันตก เพิ่มเป็น 932 รายแล้ว นับตั้งแต่มันเริ่มแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน 1,711 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน

เหตุเสียชีวิตของพยาบาลคนหนึ่งในเมืองลากอส มหานครที่มีประชากร 20 ล้านคน มีขึ้นขณะที่มีการยืนยันว่าช่วงระหว่างวันเสาร์(2ส.ค.)ถึงวันจันทร์(4ส.ค.) มีผู้เสียชีวิตทั่วแอฟริกาตะวันตกเพิ่มเติมอีก 45 ราย ด้วยหน่วยงานความช่วยเหลือต่างๆ ในนั้นรวมถึงองค์การแพทย์ไร้พรมแดน บอกว่าโรคระบาดที่น่าสยดสยองนี้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว

ในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย ซึ่งศพเหยื่อถูกทิ้งไว้ตามท้องถนนและในบ้านเรือน ทางประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ วิงวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสั่งอดอาหารและสวดมนต์ภาวนาทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธ(6) เป็นต้นไป

ส่วนในเซียร์ราลีโอน ชาติที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด มีการส่งทหารเข้าไปอารักขาโรงพยาบาลต่างๆเพื่อป้องกันญาติๆและเพื่อนของผู้ป่วยอีโบลา ใช้กำลังพาตัวพวกเขาไปจากโรงพยาบาลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากแพทย์ ขณะที่กำลังพลซึ่งถูกส่งไปประจำการในโซมาเลีย ส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพสหภาพแอฟริกา ก็ได้รับคำสั่งเมื่อวันพุธ(6)ให้อยู่ในโซมาเลียต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากความเสี่ยงติดเชื้ออีโบลาหากเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

แม้การแพร่ระบาดที่ไนจีเรีย ยังถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับชาติแอฟริกาตะวันตกอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในลากอส ได้ก่อความท้าทายใหญ่หลวงแก่เจ้าหน้าที่สาสาธารณสุข ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันทั้งหมด 7 รายของประเทศ ล้วนแค่เคยสัมผัสกับ นายแพทริค ซอว์เยอร์ ลูกจ้างกระทรวงการคลังของไลบีเรีย ซึ่งเป็นคนนำเชื้อไวรัสมายังลากอสเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

Medical staff working with Medecins sans Frontieres prepare to bring food to patients kept in an isolation area at the MSF Ebola treatment centre in Kailahun

ซอว์เยอร์ ซึ่งเดินทางมาจากมันโรเวีย ผ่านเมืองหลวงของโตโก เพื่อร่วมประชุมระดับภูมิภาค ถูกตรวจพบว่ามีอาการป่วยตอนที่เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติในลากอส จากนั้นเขาก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที ทั้งนี้เขาเสียชีวิตในสถานกักกันโรคเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม หลังจากแพร่เชื้อให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหลายคน ในนั้นรวมไปถึงพยาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อคืนวันอังคาร(5ส.ค.)

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าทางการไนจีเรียกำลังสังเกตอาการชาวบ้าน 70 คนที่เชื่อว่ามีการสัมผัสกับนายซอว์เยอร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐลากอสคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยยามเผยว่าเหล่าเจ้าหน้าที่กำลังติดตามพลเมืองทุกคนที่เป็นไปได้ว่าได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายอื่นๆอีก 6 คน แต่เขาไม่ได้ระบุตัวเลขว่ามีประชาชนจำนวนเท่าใดที่ต้องอยู่ภายใต้การสังเกตอาการ

กาชาดสากลเตือนในวันพุธ(6ส.ค.) ว่าการจำกัดการแพร่ระบาดของอีโบลาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อสามารถเอาชนะใจสาธารณชนให้ได้เสียก่อน ด้วยระบุการถูกตราหน้าและความมีอคติ บ่อยครั้งก็ฆ่าชีวิตคนมากพอๆกับเชื้อไวรัส โดยนายเอลฮัดจ์ อัส ซีย์ ประธานสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ บอกว่าโลกจำเป็นต้องนำการต่อสู้กับโรคเอดส์มาเป็นบทเรียน ซึ่งการกล่าวโทษดุด่าไม่สามารถช่วยอะไรได้

“ด้วยวัฒนธรรมของชาวแอฟริกาตะวันตก มันเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะบอกผู้คนว่าอย่าข้องแวะกับบุคคลอันเป็นที่รักที่ล้มป่วย แต่สถานการณ์แบบนี้พวกเขาจำเป็นจะต้องทำแบบนั้น” เขากล่าวด้วยชี้ว่าพิธีการอาบน้ำศพตามความเชื่อทางศาสนาทำให้ความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดยุ่งยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่อีโบลาสามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสกับศพผู้เสียชีวิต

รัฐบาลสเปนเตรียมส่งเครื่องบินไปยังไลบีเรียเพื่อรับตัว มิเกล ปาฆาเรสกลับมารักษาพยาบาลในบ้านเกิด หลังจาก มิชชันนารีโรมันคาทอลิกวัย 75 ปีรายนี้ ที่ทำงานในโรงพยาบาลเซนต์โยเซฟ ในกรุงมันโรเวีย มานานกว่า 7 ปี ถูกตรวจพบเชื้ออีโบลา

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวอเมริกัน 2 คนที่ทำงานให้กับองค์กรช่วยเหลือคริสเตียนในไลบีเรีย ก็ถูกส่งกลับมารักษาตัวในสหรัฐฯ หลังถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้เช่นกัน

ทั้งคู่อาการดีขึ้นมากหลังได้รับยาต้านไวรัส อย่างไรก็ตามไม่สามารถระบุได้ว่ายาต้านไวรัสเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่อาการดีขึ้นจริงหรือไม่ และจะมีอาการข้างเคียงหรือเปล่า เพราะยังไม่เคยมีการทดสอบยาตัวนี้ในมนุษย์มาก่อน แต่การทดสอบในลิงก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ขณะที่วัคซีนป้องกันเชื้ออีโบลา สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ จะเริ่มการทดสอบกับมนุษย์ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้

มีรายงานว่าชาวซาอุดีอาระเบียรายหนึ่งซึ่งเดินทางกลับจากเซียร์ราลีโอนและมีอาการคล้ายคนติดเชื้ออีโบลา เสียชีวิตลงแล้วในวันพุธ(6) ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยผลตรวจอีโบลา แต่บอกว่าศพของเขาจะถูกฝังตามพิธีกรรมอิสลามภายใต้มาตรการป้องกันไว้ก่อนต่างๆนานาที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโลก

อนึ่งนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ติดเชื้อแล้ว บุคคลที่ดำเนินการฝังเหยื่อที่เสียชีวิตจากอีโบลา คือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด

Credit : ASTVผู้จัดการออนไลน์

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *