มนุษย์เรือรอดแล้ว รับโรฮีนจา ขึ้นฝั่งมาเลย์-อินโด

2 ชาติให้พักพิงได้ไม่เกิน 1 ปี ทำการคัดกรองแล้วส่งต่อ แต่ไทยไม่ได้ร่วมแถลงด้วย ส่วนคดีค้ามนุษย์ส่งฝากขัง

มาเลเซียจัดประชุมฉุกเฉินไทย-อินโดฯถกปัญหา “โรฮีนจา” ก่อนที่ 2 ชาติมุสลิมจะออกมายืดอกแถลงการณ์ร่วมยอมรับชาวโรฮีนจาราว 7,000 คน ย้ำชัดรับเฉพาะกลุ่มที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลเท่านั้น พร้อมเรียกร้องประชาคมโลก บริจาคเงินช่วยเหลือ ในขณะที่ รมว.ต่างประเทศไทยไม่เข้าร่วมวงแถลงข่าว ด้านนายกฯยังไม่ตัดสินใจรับดูแลโรฮีนจา ส่วนการดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ ตำรวจคุมตัว “โกโต้ง” พร้อมพวกรวม 4 คน ส่งฝากขังผัดแรก พร้อมคัดค้านการประกันตัว เตรียมออกหมายจับเพิ่มอีก 6 คน ส่วนลูกน้อง “ผู้ใหญ่แคว็ด” ถูกตำรวจรวบตัวได้แล้วขณะหลบหนีไปกบดานบนเกาะทรายดำ ในทะเลอันดามัน

เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานยังคงสนธิกำลังปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจาชนิดขุดรากถอนโคน ในขณะที่ปัญหาการค้ามนุษย์กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ มีการประชุมฉุกเฉิน 3 ประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายอานิฟาห์ อามาน รมว.ต่างประเทศมาเลเซีย ออกแถลงการณ์ร่วมกับนางเรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุจากการหารือแบบไตรภาคีระหว่างตัวแทนจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยนั้น ได้ข้อสรุปว่า ทางการอินโดนีเซียและมาเลเซียตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาทางทะเลกลุ่มนี้ ที่คาดว่ามีมากถึง 7,000 คน โดยจะจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวให้ แต่ไม่ใช่ที่ประเทศ ไทย กระนั้นขอย้ำว่าจะช่วยเฉพาะกลุ่มที่อยู่กลางทะเลในตอนนี้เท่านั้น อย่าคาดหวังว่าเราจะรับเพิ่มหากมีเข้ามาอีก และประชาคมนานาชาติจะต้องรับผิดชอบให้การช่วยเหลือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุน ที่จะนำมาเป็นค่าจัดตั้งที่พักพิง และค่าสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งหลังจากช่วยเหลือแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อเตรียมให้ตั้งหลักปักฐานและส่งตัวกลับประเทศ ที่ประชาคมนานาชาติจะต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ ทางการมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ยังสัญญาร่วมกันว่าจะดำเนินมาตรการที่จำเป็น ในการรับมือกับขบวนการค้ามนุษย์ ที่นำมนุษย์เรือเหล่านี้ออกมาจากเมียนมา ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว. ต่างประเทศ มิได้อยู่ในงานแถลงการณ์ร่วมครั้งนี้ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศเมียนมาหรือพม่า ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลรู้สึกกังวลต่อกรณีที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับนานาประเทศ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ใครก็ตามที่ประสบภัยทางทะเล ส่วนนายทอม มาลินาวสกี้ รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาต้องเปลี่ยนนโยบายต่อชาวโรฮีนจา ควรทำตามหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกับพลเมืองของตัวเอง

ต่อมาสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เสนอให้จัดที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ระบุเป็นเรื่องเร่งด่วนในการนำคนกลุ่มนี้ขึ้นฝั่ง และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เราคาดหวังจะได้เห็นการดำเนินการโดยเร็วที่สุด ขณะที่นางวิเวียน ตัน โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ยังมีผู้ลี้ภัยอีกกว่า 2,000 คน ถูกกลุ่มค้ามนุษย์ทิ้งไว้บนเรือ นอกชายฝั่งรัฐยะไข่ของเมียนมา เป็นเวลากว่าสัปดาห์

ในขณะที่หน่วยกู้ภัยอินโดนีเซียเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่และเรือประมงเอกชนได้เข้าช่วยเหลือเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยบริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ จากการตรวจสอบพบว่าบนเรือเป็นชาวโรฮีนจาจากเมียนมา 433 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 70 คน และผู้หญิง 70 คน และเชื่อว่าเป็นเรือลำเดียวกันที่มีการพบเห็นใกล้น่านน้ำไทย เมื่อ 2-3 วันก่อน เบื้องต้นได้นำบางส่วนที่สภาพร่างกายอ่อนแอมากขึ้นฝั่งเพื่อให้การปฐมพยาบาล

ส่วนการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 พ.ค. พ.ต.ท.ประพันธ์ อารีบำบัด พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา พร้อมกำลังตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา 4 คนคือ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ “โกโต้ง” อดีตนายก อบจ.สตูล ตัวการใหญ่เครือข่ายค้ามนุษย์ จ.สตูล นางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ นายอนุสรณ์ สุขเกษม หรือ “โกเล้ง” และ พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง สว.อก.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นรถออกจาก สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ไปขออำนาจศาลจังหวัดนาทวีฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน หลังพนักงานสอบสวนได้สอบทั้ง 4 คนแล้วเสร็จ แต่ทั้งหมดยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวเช่นเดียวกับผู้ต้องหาที่ถูกส่งไปฝากขังก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะนายปัจจุบันถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมถึง 9 คดี ทั้งค้ามนุษย์และบุกรุกที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ เขตอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา ระหว่างควบคุมตัวไปฝากขังนายปัจจุบันกล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆว่า “ขอปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและพร้อมสู้ทุกคดีตามที่ถูกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดและยังเป็นผู้บริสุทธิ์” พร้อมกับชูนิ้วไอเลิฟยูหยอกล้อกับผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้งหมดส่งเข้าเรือนจำจังหวัดนาทวี ส่วนผู้ต้องหาที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้าขณะนี้เหลือเพียงคนเดียวคือ ร.ต.ต.นราธร สัมพันธ์ รอง สว.สส.ภ.จ.ระนอง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

EyWwB5WU57MYnKOuXxzvYUIkvc9GUH3fhRbymxD5gE8bQzZbgEpqoh

ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันทน์ ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.พุทธิชาต เอกฉันท์ รอง ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รอง ผบช.ภ.9 ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายค้ามนุษย์โรฮีนจาในพื้นที่ จ.สงขลา สตูล และระนอง โดย พล.ต.ต.พุทธิชาต เผยว่า คดีนี้มีการออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 71 คน จับกุมตัวได้แล้ว 34 คน คงเหลือผู้ต้องหาอีก 37 คน ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวได้ล่าสุด 4 คน คือ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ “โกโต้ง” อดีตนายก อบจ.สตูล นางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ นายอนุสรณ์ สุขเกษม หรือ “โกเล้ง” และ พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง สว.อก.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี พนักงานสอบสวนนำตัวส่งฟ้องศาลจังหวัดนาทวี เพื่อฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน และคัดค้านการประกันตัว ซึ่งในวันนี้จะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีก 1 ชุด คาดว่าประมาณ 6 คน

พล.ต.ต.พุทธิชาตเผยอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการตรวจยึดทรัพย์ในเครือข่ายค้ามนุษย์ ทั้งของตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9 ขณะนี้ได้ทำการอายัดทรัพย์สินไว้จำนวน 156 รายการ มูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 81 ล้านบาท แยกเป็นของตำรวจภูธรภาค 8 ประมาณ 70 กว่าล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของตำรวจภูธรภาค 9 นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ “โกโต้ง” ทางตำรวจสตูลได้ออกหมายจับเพิ่มเติมอีก 9 หมายจับที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดิน หลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เข้าแจ้งความกล่าวโทษนายปัจจุบันกับพวกรวม 5 คน บุกรุกที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตั้งอยู่หมู่ 7 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล ส่วนใหญ่เป็นการสร้างรีสอร์ตและที่พัก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้เนื่องจากที่ดินที่ถูกบุกรุกบางส่วนยังมีปัญหาในข้อพิพาท และได้มีการตรวจยึดเรือเพิ่มอีก 5 ลำ

ขณะเดียวกัน ญาติของนางทัศนีย์ หนึ่งในผู้ต้องหา ได้เดินทางไปยัง สภ.หาดใหญ่ เพื่อจะยื่นเรื่องต่อศาลขอนำตัวไปฉีดคีโมที่ รพ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากนางทัศนีย์ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมและแพทย์ได้นัดหมายในวันที่ 21 พ.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับการผ่าตัดมาแล้ว โดยญาติยังได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนให้กับนางทัศนีย์ โดยระบุว่า นางทัศนีย์ไม่เคยมีความสัมพันธ์หรือรู้จักกับนายปัจจุบันตามที่เป็นข่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการค้ามนุษย์แต่อย่างใด โดยนางทัศนีย์ทำธุรกิจเกี่ยวกับลานรับซื้อผลปาล์ม นากุ้ง และธุรกิจยางพาราเท่านั้น

ที่ จ.สตูล พล.อ.สุจินต์ เอียมปี รอง ผอ.ศปป.2 กอ.รมน. รองประธานคณะทำงานติดตามตรวจสอบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมคณะได้เดินทางไปประชุมร่วมกับนายเดชรัฐ สิมศิริ ผวจ.สตูล และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ประพฤติมิชอบและเป็นภัยสังคม และการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮีนจา โดย พล.อ.สุจินต์ได้กำชับเจ้าหน้าที่ห้ามเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โรฮีนจาโดยเด็ดขาด หากพบเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าโรฮีนจา จะต้องมีการเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน นายเดชรัฐ สิมศิริ ผวจ.สตูล และ พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รอง ผบช.ภ.9 รรท.ผบก.ภ.จ.สตูล เดินทางไปตรวจสอบเรือสปีดโบ๊ต 3 ลำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจยึดมาได้จากพื้นที่ ต.ปูยู และ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล เนื่องจากสงสัยว่าเป็นเรือที่ใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์

มีรายงานด้วยว่า วันเดียวกัน พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี ผกก.สภ.เมืองชุมพร พ.ต.ท.สมภพ เชื้อทอง สว.สส. นำกำลังเข้าจับกุมนายเจริญชัย หรืออ้น ยอดจันทร์ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 174/1 หมู่ 8 ต.บ้านนา อ.เมืองชุมพร ผู้ต้องหาแก๊งค้ามนุษย์เครือข่ายนายประเสริฐ สังข์สม อายุ 52 ปี หรือ “ผู้ใหญ่แคว็ด” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หินแก้ว อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โดยนายเจริญชัยถูกตำรวจติดตามจับกุมได้ขณะหนีไปกบดานที่บ้านเลขที่ 120 หมู่ 5 ต.หงาว อ.เมืองระนอง บนเกาะทรายดำ ทะเลอันดามัน ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา เบื้องต้นผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ แต่ตำรวจมีหลักฐานควบคุมตัวไว้ดำเนินคดี

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการได้แยกชาวโรฮีนจา ออกเป็นเหยื่อของผู้ถูกค้ามนุษย์และผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ผู้ที่มีความผิดกฎหมายเข้าเมืองจะถูกแยกมาอยู่ที่ ตม.เพื่อรอผลักดันออก แต่ติดเงื่อนไขว่าจะผลักไปไหน ส่วนผู้ถูกรับเข้าในศูนย์พักพิงตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะใช้ที่ไหน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติรอรับคำสั่งเพื่อปฏิบัติตาม ส่วนการดำเนินคดีผู้กระทำความผิด มีผู้ต้องหาถึง 71 คน จับกุมได้ 34 คน มีบางส่วนรอประสานจะมอบตัว พนักงานสอบสวนอาจจะออกหมายจับเพิ่มเติม เนื่องจากยิ่งขยายผลก็พาดพิงไปถึงอีกหลายคน ตำรวจมีหน้าที่ดูแลในกรณี ที่กระทำผิดกฎหมายและสกัดกั้นไม่ให้ขึ้นฝั่ง ขณะนี้กระบวนการสกัดกั้นไม่ให้ขึ้นบกค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีชาวโรฮีนจาหลบหนีเข้าประเทศไทยและมีเจ้าหน้าที่บางนายแอบทำบัตรประชาชนปลอมให้ คงไม่มีแน่

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ.กล่าวถึงการเปิดสถานที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮีนจาว่า ขณะนี้ศูนย์พักพิงที่มีอยู่ 9 ศูนย์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จากการหลบหนีภัยจากการสู้รบและหาทางยุติไม่ได้ ทำมีผู้หลบหนีเข้าไทยหลายแสนคน ส่วนชาวโรฮีนจาเป็นการหลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกต้อง เป็นสถานที่ควบคุมคนหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยทั้งหมดดำเนินการตามกฎหมาย ในส่วนของทหารเราไม่มีหน้าที่ควบคุมตัว แต่จะดูแลด้านความมั่นคง ถ้าพบเห็นคนหลบหนีเข้าเมืองก็จะควบคุมตัวส่งตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าหลบหนีเข้ามามาก สถานที่ควบคุมไม่เพียงพอ ทางรัฐบาลมีนโยบายให้จัดเตรียมพื้นที่เอาไว้โดยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมได้โดยตรง

พล.อ.อุดมเดชกล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจา ขอย้ำว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. และ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติงาน ซึ่งจะร่วมกันดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน ขอย้ำว่าไม่มีการผลักดันหรือผลักไสไล่ส่งใดๆทั้งสิ้น เราเป็นประเทศกลางทาง ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของชาวโรฮีนจา หากแต่พวกเขา ต้องการไปยังประเทศที่ 3 เราก็ไม่ขัดวัตถุประสงค์พวกเขา แต่ถ้าพวกเขาไม่ต้องการไปประเทศที่ 3เราก็จะนำตัวเข้ามาสู่ระบบการควบคุมตัวในลักษณะคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ประเทศไทยถูกจับตาจากองค์กรต่างๆบางประเทศที่ไม่เข้าใจ ขอชี้แจงให้เข้าใจตามนี้ ถ้าเป็น ไปได้ประเทศที่พยายามดูแลด้านสิทธิมนุษยชนของบุคคลเหล่านี้ ถ้าหากช่วยประเทศไทยได้บ้างก็ดี ขอให้เห็นใจประเทศเราบ้าง เพราะเราแบกรับภาระเยอะมาก ดังนั้น ถ้าองค์กรต่างๆเห็นว่าควรทำให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน หากท่านเห็นใจคนหลบหนีเข้าเมืองและถ้าประเทศท่านมีความพร้อมก็สามารถรับไปดูแลได้” พล.อ.อุดมเดช กล่าว

เมื่อถามว่า การเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ทางสหประชาชาติให้ไทยรับผิดชอบ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า วันที่ 29 พ.ค. จะมีการจัดประชุมกับประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยจะหารือให้ชัดเจนก่อนจะเสนอกลับไปยังองค์กรเหล่านั้น ทหาร ตำรวจ ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เห็นว่า เราจริงจังกับการแก้ไขปัญหา และได้ออกคำสั่งว่า ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ จะลงโทษอย่างเด็ดขาด ได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.สมยศว่าไม่ต้องเกรงใจใดๆทั้งสิ้น ถ้าพบว่ากำลังพลของทหารเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์ก็สามารถดำเนินการเต็มที่ คนดีต้องถูกเชิดชู ส่วนคนไม่ดีต้องไม่ให้อยู่ในกองทัพ ถ้าตำรวจมีพยานหลักฐานขอให้ดำเนินการได้อย่างเต็มที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงผลการประชุมฉุกเฉิน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เพื่อแก้ปัญหาชาวโรฮีนจา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาเลเซียและอินโดนีเซียยินยอมที่รับจะดูแลชาวโรฮีนจาว่า ตนขอยืนยันเหมือนเดิมว่าเราเป็นประเทศกลางทาง วันนี้ถือเป็นการประชุมร่วมกันระดับกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ปัญหาคือทางมาเลเซียกับอินโดนีเซียจะรับที่ไหน อย่างไร ตอนนี้แต่ละประเทศจะรับจำนวนเท่าไหร่ มีอยู่ 9,000 คน จะแบ่งประเทศละ 3,000 คน ตนต้องถามกลับว่าแล้วเราจะรับไหม ตอบมาว่ารับได้ไหม จะรับหรือไม่รับตนไม่รู้ แต่จะไม่ขอพูดให้เกิดความขัดแย้งกับต่างประเทศ

Credit : http://www.thairath.co.th/

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *