ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (11 ม.ค.) ความคืบหน้าปฏิบัติการค้นหา และกู้ภัยเที่ยวบิน QZ8501 ของสายการบินแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย ที่ประสบอุบัติเหตุตกในทะเลชวา ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า กล่องดำของเครื่องบินถูกค้นพบโดยนักประดาน้ำของกองทัพเรืออินโดนีเซีย แต่พวกเขายังไม่สามารถนำกล่องดำขึ้นมาได้เพราะมันติดอยู่ใต้ซากชิ้นส่วนเครื่องบิน ที่ความลึก 30-32 เมต และจะทำการกู้ขึ้นมาในเช้าวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.)
ทั้งนี้ ยอดรวมศพผู้โดยสารที่กู้ขึ้นมาได้มีจำนวน 48 ศพ พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลไปแล้ว 32 ศพ โดยตำรวจได้ขอความร่วมมือญาติผู้เสียชีวิตให้ข้อมูลด้านทันตกรรมของผู้เสียชีวิต เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล แต่หากไม่มีข้อมูลก็จะทำการติดต่อทันตแพทย์ให้
สำหรับ กล่องดำ บรรจุอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยลำดับเหตุการณ์ของอุบัติเหตุการบินมีอยู่ 2 ตัว
ตัวแรกคือ Flight Data Recorder (FDR) บันทึกรูปแบบการบิน เช่น เพดานบิน การเร่ง ความเร็ว ความเร็วลม
ตัวที่ 2 คือ Cockpit Voice Recoder (CRV) บันทึกเสียงสนทนาและสัญญาณวิทยุภายในห้องนักบิน
กล่องดำทั้ง 2 แบบจะต้องประกอบไปด้วยเครื่องแจ้งตำแหน่งใต้น้ำที่เรียกว่า Underwater Locator Beacon หรือ Pinger
ในกรณีของ AirAsia QZ8501 เป็นเครื่องบินแอร์บัส A320-200 ซึ่งกล่องดำทั้งสองมีตำแหน่งอยู่ที่หางเครื่อง เมื่อพบกล่องดำแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการขนส่งด้วยความระมัดระวัง โดยต้องนำมันใส่ถังบรรจุน้ำ เพราะถ้าเครื่องบันทึกแห้งลง ข้อมูลจะสูญเสียได้
ซึ่งระยะเวลาในการถอดข้อมูลจากกล่องดำนั้น หากเครื่องบันทึกเสียหายไม่มาก เจ้าหน้าที่ก็เพียงต่อเครื่องบันทึกเข้ากับเครื่องอ่านก็จะได้ข้อมูลภายในไม่กี่ชั่วโมง
แต่ในหลายกรณีเครื่องบันทึกมักเสียหายจากแรงกระแทกหรือไฟไหม้ ในกรณีนี้แผงหน่วยความจำจะถูกถอดออกมาทำความสะอาดและเชื่อมโยงเข้ากับเครื่องบันทึกอีกเครื่องที่มี software พิเศษ เพื่อถ่ายข้อมูลออกมา บางครั้งใช้เวลาเป็นปีกว่าจะนำข้อมูลออกมาได้ (ข้อมูลจาก thaitv3.com)
Credit : http://news.sanook.com/