ชาวเม็กซิโกร่วมเดินขบวนให้เหล่าผู้นำโลกหาทางแก้ปัญหาโลกร้อน (ภาพ: AFP)
ประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ออกมาเดินขบวนเมื่อวันอาทิตย์ เพื่อเรียกร้องให้เหล่าผู้นำโลกหาทางแก้ปัญหาโลกร้อน ก่อนการประชุมของสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์…
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ชุมนุมออกมาเดินขบวนมากกว่า 2,000 จุดทั่วโลกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 พ.ย.) เพื่อเรียกร้องให้เหล่าผู้แทนประเทศและหน่วยงานต่างที่มาร่วมในการประชุมของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ซีโอพี 21 (COP21) ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงปารีส ในวันจันทร์ที่ 30 พ.ย.นี้ ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
รองเท้านับหมื่นคู่วางอยู่ที่จัตุรัสรีพับลิก ในกรุงปารีส (ภาพ: AP)
ในกรุงปารีสเมื่อวันอาทิตย์ ผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคนจับมือต่อกันเป็นสายโซ่มนุษย์ความยาวกกว่า 3 กม. โดยเว้นช่องว่างบริเวณหน้าโรงละคร บาตากล็อง ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่ถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีเมื่อ 13 พ.ย. จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 89 คนเอาไว้ ผู้ชุมนุมยังร่วมกันนอกจากนี้ยังวางรองเท้านับหมื่นคู่เอาไว้ที่จัตุรัสรีพับลิก เพื่อระลึกถึงการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องเรื่องปัญหาโลกร้อนที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้หลังเกิดเหตุวินาศกรรมในกรุงปารีส โดยในจำนวนนี้มีรองเท้าคู่หนึ่งถูกบริจาคมาโดยพระสันตะปาปา ฟรานซิส ซึ่งพระองค์ก็ทรงเรียกร้องให้นานาชาติออกมาตรการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นกัน
การชุมนุมในกรุงปารีส ลุกลามกลายเป็นความรุนแรง (ภาพ: AP)
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมอย่างสงบในกรุงปารีสกลับกลายเป็นเหตุความรุนแรง เมื่อผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจที่รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กฏสถานการณ์ฉุกเฉินปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนในจัตุรัสรีพับลิก ล่าสุดมีผู้ชุนนุมถูกจับกุมแล้ว 208 คน และจนถึงขณะนี้เหลืออีก 174 ที่ยังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอาไว้
หลังเกิดเหตุ ผู้จัดการเดินขบวนเรียกร้องให้ออกมาตรการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ออกมาปฏิเสธว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ก่อเรื่องซึ่งส่วนใหญ่สวมหน้ากากหรือปิดบังใบหน้า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเขา
การเดินขบวนประท้วงในนครซิดนีย์ ของออสเตรเลีย (ภาพ: AFP)
ด้านการชุมนุมในสถานที่อื่นๆเช่นที่กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนี มีผู้ชุมนุมออกมาร่วมเดินขบวนกว่า 10,000 คน เกือบ 2 เท่าของจำนวนผู้ชุมนุมในกรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน ขณะทีในกรุงลอนดอน มีผู้ชุมนุมออกมาเดินขบวนถึง 50,000 คน โดยนาย เจเรมี คอร์บีน ผู้นำฝ่ายค้านของอังกฤษกล่าวปราศรัยต่อผู้ชุมนุมด้วย โดยเหล่านักเคลื่อนไหวต่างต้องการให้ที่ประชุมซีโอพี 21 ออกมาตรการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียสระดับอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม
ที่นครซิดนีย์ ของออสเตรเลีย ผู้ชุมนุมจำนวนกว่า 45,000 คน ออกมาเดินขบวนโดยชูป้ายที่มีข้อความหลากหลายเช่น “ไม่มีโลกดวงที่ 2” และ “ความสามัคคีในระดับโลก” ส่วนที่เมืองแอดิเลด ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย มีผู้ชุนมุมออกมาเดินขบวนประมาณ 5,000 คน
การเดินขบวนที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย (ภาพ: AP)
ทั้งนี้ ผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาลถึง 147 ประเทศ รวมทั้งบรรดาผู้แทนจากหลายหน่วยงาน รวมแล้วราว 40,000 คน เข้าร่วมการประชุมซีโอพี 21 ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. ไปจนถึงวันที่ 11 ธ.ค. เพื่อหาข้อตกลงในการหาทางหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบนโลก อันเนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และทำให้โลกร้อนขึ้น ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
Credit : http://www.thairath.co.th/