ในช่วงนี้หลายๆคนอาจได้ยินข่าวการเตรียมพร้อมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือผ่านระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz หรือ 2100MHz และตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น 3G บนคลื่นความถี่ 2100MHz ล่ะ? แล้วมันต่างจาก 3G ตอนนี้อย่างไร แล้วเราจะเตรียมพร้อมอย่างไร
ข้อมูลจากงานสัมมนา “Thailand 3G Gear Up 2012: Declaring Auction Procedure for 3G on 2.1 GHz” ซึ่งจัดโดยสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่น่าสนใจในด้านความรู้เรื่อง 3G ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของการประมูลคลื่นความถี่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ในประเทศไทย และการประมูลจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป และประเทศชาติอย่างไร โดยมีข้อมูลจาก ร้อยโท ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการรองประธาน กสทช. ซึ่งได้บรรยายในหัวข้อ 3G and HSPA Network Technology Roadmap and Solution to support Wireless Usage Demand
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สภาพและสถานการณ์ของ 3G ในประเทศไทยเป็นอย่างไรทำไมต้องเป็น 2.1GHz หรือ 2100GHz ?
ในอดีตนั้นประเทศไทยมีการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 470MHz, 850MHz, 900MHz, 1.7GHz, 1.8GHz, 1.9GHz, 2.1GHz ถ้าเห็นคุ้นๆก็คงจะมี 850/900/2100MHz
จากภาพ เราจะเห็นได้ว่า คลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาต (license) คือ 2.3GHz, 2.6GHz, 3.3GHz, 3.4GHz ส่วนความถี่ 2.4GHz และ 5.7GHz คุ้นๆไหม? มันคือคลื่น Bluetooth นั่นเอง แบบหลังนี้ไม่ต้องขอ license อนุญาต และคลื่น 2.3GHz, 2.4GHz ก็มีการนำมาใช้ในการให้บริการ Wi-Max
มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ถ้าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือครอบคลุมการให้บริการ “ทั้งประเทศ” การให้บริการเครือข่าย 3G จะต้องครอบคลุมจำนวนประชากรที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 77 จังหวัด 998 ตำบล 8,860 อำเภอ และ 74,819 หมู่บ้าน เห็นภาพไหมครับ ว่าทำไมต้องมีการโฆษณากันแบบนั้น
มาดูคลื่นความถี่ 3G ในไทยกันบ้าง
ย้อนกลับไปที่การสัมปทานคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ เริ่มจากระบบ GSM ในยุคก่อน (โทรออก-รับสาย รับส่ง SMS) ก็จะมี AIS, DTAC, TAO (TA Orange ในสมัยนั้น) ต่อมาเป็นยุคของ GPRS จากนั้นต่อกันที่ยุคของ EDGE หรือเรียกเล่นๆว่า 2.5G และมีระบบ W-CDMA ถ้าใครยังจำกันได้ สมัยนั้นมีค่ายมือถือ Thai Mobile ด้วย
และหากย้อนความกลับไปก่อนที่ TruemoveH จะเกิด ก็มี Hutch-CAT ให้บริการเครือข่าย CDMA บนความถี่แบบ 1x EV-DO
ต่อมา ตารางด้านล่างนี้ ชัดเจนที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุด
ในยุค 2G (โทรสนทนาปกติ, รับส่งข้อความ SMS) คลื่นความถี่ 900MHz คือ AIS (หลังจากนั้น AIS ก็นำคลื่นความถี่เดียวกันนี้ มาทำ 3G) ส่วน 850MHz คือ DTAC/Truemove/DPC อ่อ อย่าจำสับสนกับระบบโทรศัพท์ 1800MHz (ภายหลัง dtac, Truemove ก็ทดลองใช้ 3G บนคลื่นความถี่ 850MHz เหมือนกัน) ส่วน 1900MHz ได้แก่ Thai Mobile (คือ TOT + CAT นั่นเอง) ในขณะที่ Hutch+CAT ให้บริการ CDMA 2000 และล่าสุด ปีที่แล้ว Truemove + CAT ให้บริการ TruemoveH โดยใช้คลื่นความถี่ 3G เดิมคือ 850MHz ส่วน TOT ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2100MHz แล้วให้ผู้ให้บริการรายต่างๆ อย่าง i-mobile, i-kool เป็นคนทำตลาดให้ แล้วเช่าเสาทำ MNVO ยุคถัดไปมีคลื่นใหม่คือ 2.3GHz (TOT) และ 2.6GHz ยังไม่มีรายใดเป็นเจ้าของคลื่น ซึ่งตรงนี้คือยุคของ LTE ซึ่งจะก้าวเข้าสู่ยุค 4G Candidate ในที่สุด
ที่นี้ทำไม 3G ต้องแบ่งเป็นหลายคลื่นความถี่ล่ะ แล้วทำไมต้องขายเครื่องแยกด้วยล่ะ ในสมัยที่เราโทรออก – รับสายนั้น เรามักจะเลือกซื้อเครื่องพร้อมเบอร์ เพราะ AIS เป็นคลื่น 900MHz, Dtac, Truemove เป็นคลื่น 1800MHz และตอนนั้นมี DPC หรือ GSM 1800 เป็นคลื่น 1800MHz สมชื่อ แต่พอเป็นยุค 3G แล้วก็ต้องเลือกอุปกรณ์ให้ตรงกับคลื่นความถี่
จากสาเหตุที่เครือข่ายให้บริการ 2G และ 3G คนละความถี่ ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จำเป็นจะต้องนำตัวเครื่องอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือมาจำหน่ายเอง เพื่อให้สามารถใช้งานได้บนเครือข่ายของตน และบางรุ่นหากผู้ให้บริการไม่ได้นำเข้ามาขายอย่างเป็นทางการ ผู้ใช้ก็จะไปหาเครื่องนอกที่รองรับเครือข่ายของตนมาใช้งานแทน ดังนั้นจะเห็นว่า การประมูลคลื่นความถี่ 3G นั้นจะเป็นตัวกำหนดอุปกรณ์การใช้งานของเรา หากใครยังจำได้ iPhone 3GS ไม่สนับสนุน 3G 900MHz ของ AIS ดังนั้นผู้ใช้ iPhone 3GS จะใช้งาน 3G ได้เต็มประสิทธิภาพเฉพาะบน 3G dtac และ truemove เท่านั้น เช่นเดียวกับที่หลายๆคนเคยสงสัยว่า ทำไมสมาร์ทโฟนจึงมีการแยกขายเครื่องแต่ละผู้ให้บริการ เนื่องจากมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับความถี่ 3G ของแต่ละค่ายนั่นเอง
และจุดนี้เองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2100MHz เพราะในตอนนี้ ต่างคนต่างนำคลื่นความถี่เดิม มาให้บริการ 3G ก่อน เนื่องจากใกล้หมดระยะเวลาสัมปทานคลื่นแล้ว หากมีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ก็จะมีตัวเครื่องและอุปกรณ์ที่รองรับ 3G ก็จะมากขึ้น
เมื่อเข้าใจพื้นฐานแล้ว ว่าแต่ละค่ายตอนนี้ใช้คลื่นความถี่ใดอยู่ ก็ลองมาดูว่า คลื่น 2100MHz นั้นดีอย่างไร อย่างแรกคือเป็นความถี่สากลที่โอเปอเรเตอร์มือถือทั่วโลกให้บริการ 3G เพราะปกติแล้ว มือถือ แอร์การ์ด มักจะรองรับ 900/2100MHz, 850/2100MHz คือไม่ว่ารุ่นใด ก็รองรับ 3G 2100MHz นั่นหมายถึงว่า เสรีในการนำเครื่องรุ่นใดมาใช้ก็ได้หากรองรับและไม่ติดล็อก
ทำไมต้องใช้ 3G 2100MHz
คงเป็นคำถามที่หลายๆคนสงสัย ว่าในเมื่อแต่ละค่ายสามารถนำคลื่นความถี่เดิมมาใช้ได้ แล้วทำไมต้องเป็น 2100MHz ล่ะ? หากสังเกตจะพบว่า ตอนนี้มีผู้ใช้บริการที่ร้องเรียนปัญหาในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการนำคลื่นความถี่เดิมที่ใช้เดิมบน 2G มาแบ่งใช้สำหรับบริการ 3G ด้วย ส่งผลให้บริการโทรศัพท์ระบบ 2G เริ่มมีปัญหา (อ่าน สัมภาษณ์ รองประธานกสทช)
ดังนั้นการประมูลคลื่น 2.1 GHz (2100MHz) ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการแก้ปัญหาเดิมที่เกิดจากการนำความถี่ 2G มาทำ 3G แล้วเกิดปัญหาในการโทร และอีกเหตุผลก็คืออุปกรณ์ที่รองรับ 3G แบบ 2.1 GHz (2100MHz) ในท้องตลาดนั้นมีมากกว่า และเป็นคลื่นที่ทั่วโลกส่วนใหญ่จะใช้สำหรับ 3G
สำหรับคำจำกัดความของ 3G ก็คือระบบโทรศัพท์เคลื่นที่ในยุคที่ 3 ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงในระดับ 2Mbps แต่ปกติจะอยู่ที่ 384Kbps ตรงนี้เป็นคำตอบว่า การกำหนดเพดานการใช้งานการเชื่อมต่อดาต้าหากใช้งานจนครบระยะเวลาที่กำหนดที่ความเร็ว 384Kbps นั้นยังถือว่าเป็น 3G อยู่
เมื่อได้ทราบข้อมูลแล้วว่าทำไมถึงเป็น 3G 2100MHz ต่อไปผู้ใช้จะต้องพิจารณาตัวเครื่อง สมาร์ทโฟน แอร์การ์ด หรือ Mi-Fi ส่วนผู้ให้บริการ ก็คงจะนำเครื่องมาให้บริการจำหน่ายพร้อมซิมและโปรโมชั่น เมื่อเวลานั้นมาถึง
ข้อมูลจากสไลด์ของ ร้อยโท ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการรองประธาน กสทช.
และในเวลาอันใกล้แล้วที่ กสทช. จะเริ่มจัดประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางอุปกรณ์พกพาได้มากขึ้น และแข่งขันด้านโทรคมนาคมกับต่างประเทศได้ รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ ที่บทความเรื่อง “นับถอยหลังสู่การประมูล 3G “
ที่มา it24hrs.com