พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์พีระ ทรงเป็นนักแข่งรถชาวไทย และทรงเป็นผู้เข้าแข่งขันกีฬาเรือใบในโอลิมปิก พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการเตรียมการจัดการแข่งขันกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ (Bangkok Grand Prix) โดยเชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง ๒ ไมล์ แต่การแข่งขันนี้ต้องยกเลิกไป เพราะเกิดสงครามโลกขึ้นเสียก่อน พระองค์พีระ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชและหม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อแรกประสูติทรงพระนามว่า ” หม่อมเจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ” จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอีตัน และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และเปลี่ยนไปศึกษาด้านประติมากรรม ที่ Byam Shaw School of Art
พระองค์พีระ ทรงแข่งรถโดยการสนับสนุนของ ” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ” ทั้งสองพระองค์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักแข่งรถในชื่อ Prince Bira และ Prince Chula ทรงขับรถยี่ห้อ อี.อาร์.เอ. (English Racing Automobiles – E.R.A.) ทาสีฟ้าสดใส รถที่ใช้ในการแข่งขัน ชื่อ รอมิวลุส (Romulus) รีมุส (Remus) และ หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าแบบนี้ ปัจจุบันเรียกว่า ฟ้าพีระ (Bira blue)
ทรงชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรก ในรายการ Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก (ปัจจุบันคือ โมนาโกกรังด์ปรีซ์) ได้รับถ้วยเจ้าชายเรนีย์แห่งโมนาโก เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยทรงขับรถรอมิวลุสทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๓๖, ๑๙๓๗ และ ๑๙๓๘ จนได้รางวัล ดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star) จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ ๕ แห่งสหราชอาณาจักร ๓ ปีซ้อน และด้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ
เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระองค์พีระเสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทย และนำรถรอมิวลุส กลับมาขับโชว์ และจัดประลองความเร็วที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยราชยานยนต์สมาคมแห่งสยาม และจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมที่วังจักรพงษ์ ขณะนั้นอยู่ในช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีผู้คนเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก
และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระองค์พีระ และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการเตรียมการจัดการแข่งขันกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ (BangkokGrand Prix) โดยเชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวังระยะทาง ๒ ไมล์ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ แต่การแข่งขันนี้ต้องยกเลิกไป เพราะเกิดสงครามโลกขึ้นเสียก่อนนอกจากนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์พีระทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษ ไดยศเรืออากาศโท ตำแหน่งครูฝึกเครื่องร่อน เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงกลับมาขับรถสูตรหนึ่ง แข่งขันกรังด์ปรีซ์ในช่วง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๔ การแข่งขันครั้งที่ดที่สุดของพระองค์พีระ คือ เฟรนช์กรังด์ปรีซ์ ปี ๑๙๕๔ ทรงขับรถ Maserati ในรอบสุดท้ายทรงอยู่ในอันดับที่ ๓ ซึ่งจะได้ขึ้นโพเดียม แต่เกิดน้ำมันหมดถังก่อนจะเข้าเส้นชัยเพียงเล็กน้อย ได้เพียงอันดับที่ ๔ และเป็นสถิติที่ดีที่สุดในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งของพระองค์ หลังจากนั้นพระองค์พีระทรงเลิกแข่งรถสูตรหนึ่งใปลายปี ค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗) เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสายพระเนตรสั้น ต้องทรงฉลองพระเนตรแบบพิเศษ และทรงมีปัญหาในการขับเวลาฝนตก
พระองค์พีระ เสกสมรสกับซิริล เฮย์คอค ชาวอังกฤษ (หม่อมซิริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา) เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ก่อนจะหย่าขาดกันใน ๑๑ ปี ต่อมาและทรงสมรสใหม่กับหม่อมชลิต้า โฮวาร์ด ชาวอาร์เจนตินา เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ หลังจากหม่อมชลิต้าตั้งครรภ์พระโอรส คือ หม่อมราชวงศ์พีรเดช ภาณุพันธุ์ (เสียชีวิต)
ต่อมาพระองค์พีระทรงสมรสอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ กับหม่อมสาลิกา กะลันตานนท์ และหย่าขาดกันใน พ.ศ. ๒๕๐๖ จากนั้นทรงสมรสกับ หม่อมอรุณี จุลทะโกศล และหม่อมชวนชม ไชยนันท์ พระองค์พีระทรงมีโอรสและธิดากับหม่อมชวนชม คือ หม่อมราชวงศ์ระพีพร ภาณุพันธ์ และ หม่อมราชวงศ์พีรานุพงศ์ ภาณุพันธุ์
สองวันก่อนคริสต์มาส ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้คนในลอนดอนกำลังชุลมุนวุ่นวายจับจ่ายซื้อข้าวของต้อนรับเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวคริสต์ ชายชราคนหนึ่งล้มลงที่สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ต สิ้นลมหายใจก่อนแก้ไขทัน ไม่มีใครทราบว่าชายชาวเอเชียคนนี้เป็นใคร ไม่มีหลักฐานอะไรในตัวเขา นอกจากจดหมาเขียนเป็นภาษาที่ตำรวจอ่านไม่ออก สก๊อตแลนด์ยาร์ดส่งจดหมายไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
กินเวลาถึง ๗ วันก่อนจะรู้และแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ในลอนดอนว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เจ้าดาราทองผู้โด่งดังที่สุดเมื่อ ๕๐ ปีก่อน สิ้นพระชนม์เสียแล้ว พระชนม์ ๗๑ พรรษา BBC ออกข่าวโทรทัศน์ทั่วประเทศทั้งเช้า กลางวัน เย็น ถือเป็นข่าวใหญ่ ITV ออกข่าวไปทั่วโลก ข่าวสิ้นพระชนม์ลงข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับ รวมทั้งนสพ.อังกฤษและประเทศอื่นๆที่เคยทรงทำชื่อเสียงไว้ สถานทูตจัดพิธีสวดพระอภิธรรมถวายอย่างสมพระเกียรติ บรรดาเชื้อพระวงศ์ที่อยู่ในอังกฤษได้รับแจ้งข่าวนี้ทั้งหมด
เมื่อพระศพถูกเคลื่อนย้ายไปที่สุสานเพื่อพระราชทานเพลิง นักแข่งรถดังๆสมัยเดียวกันรวมตัวกันทั่วยุโรป บินมาร่วมแสดงความคารวะ หม่อมราชวงศ์นริศราจักรพงษ์ ธิดาในพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นผู้อัญเชิญธูปเทียนพระราชทานมาร่วมงาน ข้าราชการไทยในสถานทูตไปร่วมงานกันทั้งหมด
ม.ร.ว. มาลินี จักรพันธุ์ ผู้รวบรวมประวัติของท่าน ส่งท้ายไว้อย่างงดงามว่า ” ดวงพระวิญญาณลอยละล่องขึ้นสู่สรวงสวรรค์ พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างโดดเดี่ยวเพียงแค่จดหมายภาษาไทยหนึ่งฉบับที่ทรงทิ้งไว้เพื่อส่งท้ายให้ได้ทราบว่าพระองค์คือใคร เทพส่งพระองค์ท่านลงมาจุติอย่างงามสง่า พระนามขจรขจายก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปทั่วโลก และเทพได้นำพระองค์ท่าน “เจ้าดาราทอง” เสด็จกลับขึ้นไปอย่างเดียวดาย เหมือนสวรรค์แกล้งให้โลกลืม”