หลายคนอาจสงสัย และไม่เคยได้ยินเรื่องของ “ภาวะเท้าแบน” มาก่อน เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่โดนละเลยมากที่สุดในร่างกายแต่เท้าถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายเมื่อมีการยืน เดิน หรือวิ่ง “เท้าแบน” ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่อาจสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันทำเป็นอย่างมาก
พิษณุ ลี้ประเสริฐ นักกายภาพบำบัด จากแบรนด์สกอลล์ ประเทศไทย อธิบายถึงภาวะเท้าแบนว่า เป็นสภาวะที่เอ็นพยุงอุ้งเท้าที่อยู่ด้านในเท้าถูกยืดออกจนสูญเสียการพยุงอุ้งเท้าไว้ ส่งผลให้กระดูกภายในเท้าเอียงล้มลงมาบริเวณอุ้งเท้า ทำให้เกิดเท้าแบน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.แบบยืดหยุ่น คือ ยกเท้าขึ้นจากพื้นจะพบว่าอุ้งเท้าปกติ แต่เมื่อยืนลงน้ำหนักบนพื้นแข็ง ส่วนโค้งเว้าด้านในจะลดลงหรือหายไป เกิดจากการยืน เดิน หรือวิ่งบนพื้นแข็งๆ โดยใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับสรีระและกิจกรรม หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป 2.แบนยึดติด คือ ไม่ว่าจะลงน้ำหนักอย่างไร เท้าก็จะแบนผิดรูปในลักษณะนั้นตลอด
“เมื่อเกิดภาวะเท้าแบน สรีระของเท้าจะผิดรูปไป ส่งผลให้การรับน้ำหนักของเท้าผิดปกติ สังเกตได้ว่าผู้ที่มีภาวะเท้าแบนจะมีอาการเมื่อยล้าของบริเวณเท้า เจ็บเท้า ข้อเท้าเอ็นร้อยหวาย และน่อง เมื่อต้องยืนเดินนานๆ และในระยะยาวจะส่งผลถึงการวางตัวของกระดูก ข้อเท้า เข่า สะโพกและหลัง อาจส่งผลให้เกิดความเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณดังกล่าวตามมา และถ้าปล่อยไว้นานๆ ไม่ได้รับการรักษา ภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่นนี้อาจพัฒนาเป็นแบบยึดติดได้”
พิษณุ แนะนำการรักษาว่า สามารถรักษาได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนเกินไป และการเลือกรองเท้าที่ทีส่วนโค้งนูนรับกับฝ่าเท้า เช่น รองเท้าสุขภาพ โดยการใส่รองเท้าที่มีแผ่นช่วยเสริมอุ้งเท้าเป็นประจำ จะช่วยแก้ไขภาวะเท้าแบนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“โดยเฉพาะสาวๆ ที่ต้องยืนบนสันสูงทั้งวัน ควรหันมาพักเท้าด้วยการใส่รองเท้าไม่มีส้น และดูแลสุขภาพเท้าด้วยกันนวดประคบ แช่น้ำอุ่น หาโอกาสเดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้า หาดทราย ก้อนหินบ้าง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และถือเป็นการบำบัดความเครียดอีกทางหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพ โดยเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่แบนราบจนเกินไป” พิษณุทิ้งท้าย
เนื้อหาโดย : นสพ.มติชน
Credit : http://health.sanook.com/