โรคหอบจากอารมณ์คืออะไร
คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเร็วและลึกอยู่นาน จนทำให้เกิดความผิดปกติของค่าสารเคมีในเลือด ทำให้มีอาการผิดปกติทางร่างกายตามมา
ลักษณะอาการและสาเหตุ
ลักษณะอาการ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบและเร็ว บ่นว่าหายใจลำบาก หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น อาจมีอาการชาบริเวณรอบปากและนิ้วมือได้ ถ้าเป็นมากอาจพบอาการเกร็งและมือจีบได้
อาการมักมีความสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล โดยก่อนเกิดอาการผู้ป่วยมักมีปัญหากดดันจิตใจอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทะเลาะกับคนใกล้ชิดหรือคนที่ทำงาน หรือมีปัญหาการเรียน เป็นต้น
อาการดังกล่าวอาจคล้ายคลึงกับการหอบที่มีสาเหตุจากทางกาย เช่น โรคหอบหืด ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะกรดคั่งในเลือดจากเบาหวาน
ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
โรคนี้อันตรายร้ายแรงหรือไม่
อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ต้องมีการบำบัดหรือรักษาอาการทางจิตหรือไม่
ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือและการแก้ไขความตึงเครียด รวมทั้งได้รับการดูแลด้านจิตใจเพื่อให้สามารถปรับตัวกับความเครียดได้
สามารถนำไปสู่โรคอื่นได้หรือไม่
ในผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการดังกล่าวจะไม่นำไปสู่โรคอื่นๆ ที่อันตรายร้ายแรง
ผู้ป่วยโรคหอบจากอารมณ์จำเป็นต้องพกบัตรประจำตัวผู้ป่วยหรือไม่ ?
การพกบัตรประจำตัวผู้ป่วยจะได้ประโยชน์ในแง่การได้รับความสะดวกเมื่อไปติดต่อกับทางโรงพยาบาล และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากจนไม่สามารถให้ข้อมูลได้
ผู้ป่วยต้องนำอุปกรณ์ใดติดตัวไว้บ้าง ?
ผู้ป่วยที่สามารถฝึกหายใจให้ช้าลง อาจไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์ใดๆ แต่หากไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ อาจพกถุงกระดาษติดตัวเพื่อใช้เวลาเกิดอาการ
การฝึกการหายใจ
ให้ฝึกหายใจช้าๆ เป็นจังหวะ เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าจะมีอาการก็กลับมาหายใจช้าๆ อาการต่างๆ จะหายไปในเวลาไม่กี่นาที
ในช่วงแรกของการฝึก บางคนจะรู้สึกเครียดหรือกังวลมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะยังหายใจเร็วอยู่หรือมัวแต่พะวงกับการหายใจเกินไป แต่เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ จะเริ่มคุ้นเคยกับการหายใจแบบนี้ อาการเครียดจะดีขึ้นอย่างชัดเจน
การฝึกหายใจช้า
1. กลั้นหายใจนับ 1 ถึง 5 (ไม่ต้องหายใจลึก)
2. เมื่อนับถึง 5 แล้วให้หายใจออก พร้อมกับจินตนาการภาพตัวเองกำลังผ่อนคลาย
3. หายใจเข้าและออกช้าๆ อย่างละประมาณ 3 วินาที ให้สังเกตว่าลมหายใจกระทบขอบในของจมูกขณะหายใจให้จินตนาการภาพตัวเองกำลังผ่อนคลายทุกครั้งที่หายใจออก (โดยรวม คือ หายใจเข้าออก 10 ครั้งต่อนาที)
4. ทุก 1 นาที ให้หายใจเข้า แล้วกลั้นหายใจนับ 1 ถึง 5 (ไม่ต้องหายใจลึก) แล้วหายใจออก หลังจากนั้นเริ่มหายใจเข้าออกช้าๆ (ทำเหมือนข้อ 3 และข้อ 4)
แพทย์หญิงธนิตา หิรัญเทพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
Credit : www.thairath.co.th