สธ. เตือนโรคตาแดงระบาดช่วงหน้าฝน รอบ 8 เดือนปีนี้ ขณะนี้พบแล้วกว่า 100,000 ราย (กระทรวงสาธารณสุข)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
โรคตาแดงระบาดหนัก รอบ 8 เดือนพบป่วยแล้ว 115,255 ราย เทียบเท่าผู้ป่วยปี 55 ทั้งปี เกือบครึ่งเป็นเด็กเล็กและวัยเรียน แพทย์แนะวิธีป้องกัน ให้ล้างมือบ่อย ๆ คนที่ป่วยแล้วควรหยุดพักงาน หยุดเรียนอย่างน้อย 3 วัน งดลงเล่นน้ำในสระ
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้ฝนตกชุกเกือบทุกภาค บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง และพบว่าโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสมักระบาดในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ชื้น แฉะ เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสและติดต่อกันง่ายมาก
ทั้งนี้ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 สิงหาคม ทั่วประเทศมีผู้ป่วยแล้ว 115,255 ราย ซึ่งสูงเกือบเท่าปี 2555 ตลอดปีที่มี 118,882 ราย พบผู้ป่วยทุกวัย เกือบครึ่งเป็นเด็กเล็กและวัยเรียน คาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นตลอดฤดูฝนปีนี้ จึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคตาแดง โดยเฉพาะตามโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมทั้งในพื้นที่น้ำท่วม เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด และความสกปรกของน้ำที่ท่วมขัง
ด้านนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า ในช่วงนี้มีผู้ป่วยตาแดงไปรักษาที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยโรคตาแดงจากไวรัสที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มี 2 ลักษณะ คือ
1. โรคตาแดงที่เกิดพร้อมกับไข้หวัด โดยจะมีอาการตัวร้อน คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูปวดบวม นำมาก่อน จากนั้นภายใน 2 วันจะมีอาการตาแดงตามมา บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ตาขาวด้วย
2. โรคตาแดงที่เกิดรุนแรงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอาการอื่น ๆ มาก่อน มักมีประวัติพบคนที่เป็นตาแดงหรือคนใกล้ชิดเป็นตาแดงมาก่อน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้มีขี้ตามาก และเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว มักเริ่มเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อนและลามไปเป็น 2 ข้างอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน บางรายอาจมีตาดำอักเสบ ทำให้เคืองตามากและมีแผลที่ตาดำชั่วคราวได้
โรคนี้ติดต่อกันง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งสกปรก น้ำตา ขี้ตาของผู้ที่เป็นตาแดง เชื้อไวรัสจะตายเมื่ออยู่ในที่แห้งภายใน 30 นาที การติดต่อมี 3 ลักษณะ คือ
1. จากมือที่ไปสัมผัสน้ำตา ขี้ตาผู้ป่วยตาแดงที่ติดอยู่ตามสิ่งของพื้นผิวต่าง ๆ ขณะที่ยังไม่แห้ง เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะทำงาน แป้นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ราวรถเมล์ เป็นต้น แล้วมาสัมผัสที่ตา หรือใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
2. จากแมลงหวี่แมลงวันที่ตอมสิ่งสกปรกหรือตอมตาของผู้เป็นตาแดงแล้วไปตอมตาคนอื่นต่อ
3. เด็กที่ลงเล่นในน้ำท่วมขังซึ่งน้ำจะมีความสกปรกสูง
ทั้งนี้ในการป้องกันโรคตาแดง ขอให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้า ขยี้ตา ไม่ลงเล่นน้ำท่วม หากจำเป็นขอให้รีบอาบน้ำให้สะอาดทันทีหลังขึ้นจากน้ำ ส่วนผู้เป็นโรคตาแดง ขอให้งดลงสระว่ายน้ำจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายในน้ำ
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ คือใช้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการระคายเคือง ถ้ามีขี้ตามากสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่าติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะต้องใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ ซึ่งหากใช้ยา 2 อย่างร่วมกันจะต้องเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 5 นาทีเพื่อไม่ให้ยาล้างกัน แต่หากหยอดยาปฏิชีวนะแล้วมีตาแดงมากขึ้นหรือหนังตาบวมแดงให้หยุดยา และนำยามาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าแพ้ยาหรือไม่
ที่สำคัญคือต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้มาก ๆ และพักการใช้สายตา ส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากยังมีอาการระคายเคืองเหมือนมีทรายเข้าตา ตามัว แสดงว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่สำคัญคือกระจกตาอักเสบ ตาดำอักเสบ หรือม่านตาอักเสบ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียดและให้การรักษาอย่างเหมาะสม
“ขอแนะนำว่า ประชาชนสามารถดูแลรักษาโรคตาแดงด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยซื้อยาหยอดตาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน ขอย้ำว่าอย่าไปซื้อยาหยอดตาที่ไม่รู้แหล่งที่มา โดยเฉพาะยาหยอดตาที่อ้างว่าเป็นยาสมุนไพร หรือใช้น้ำนมหยอดตา เพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ และอาจมีเชื้อโรคทำให้ตาอักเสบถึงขั้นตาบอดได้” นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก
Credit : http://health.kapook.com/