นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ในปี 2568 กรมอนามัยจึงมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการสำคัญ คือ จัดทำ สมุดบันทึกผู้สูงอายุ แจกให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พกติดตัวทุกครั้งที่ไปรับบริการในสถานพยาบาลทุกแห่ง เพื่อคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น
โดย สมุดบันทึกดังกล่าว มีลักษณะคล้ายสมุดฝากครรภ์ เล่มสีชมพู มี 3 หมวดหลักได้แก่
1. ประเมินด้วยตนเองหรือครอบครัว เช่น ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหาร คัดกรองภาวะกลั้นปัสสาวะ ประเมินปัญหาจากการนอน ตรวจสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ประเมินอาการเตือนของโรคมะเร็ง เป็นต้น
2. ประเมินโดยอาสาสมัคร หรือ บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ คัดกรองความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประเมินภาวะหกล้ม ประเมินข้อเข่าเสื่อม ประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง คัดกรองสุขภาวะทางตา และประเมินมาตรฐานสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ
3. บันทึกการตรวจรักษาพยาบาล ได้แก่ ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจร่างกายและรักษาพยาบาล รับวัคซีนป้องกันโรค และเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออาสาสมัคร เป็นต้น
นอกจากนี้ ใน สมุดบันทึกผู้สูงอายุ ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น การให้คำแนะนำเรื่องการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ และแหล่งข้อมูลสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
ที่มาจาก http://www.anamai.moph.go.th/