นักวิจัยเผยภาวะเครียดเรื้อรังส่งผลให้มวลกระดูกลดลงจนนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนเตือนเลี่ยงยาคลายเครียดหรือยาคลายกังวล หากจำเป็นควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
ศ.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สังกัดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะเครียดทางอารมณ์เรื้อรังของคนในสังคมปัจจุบันทั้งในเมืองและชนบท ส่งผลให้มวลกระดูกลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนได้
เขากล่าวว่า แม้สังคมทันสมัยสะดวกสบาย แต่ความเครียดทางอารมณ์ทั้งจากหน้าที่ความรับผิดชอบ ความคาดหวังที่สูงขึ้น และสภาพเศรษฐกิจแทรกซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้สังคมในชนบท โดยมีปัจจัย กระตุ้นที่หลากหลาย อาทิ เจ็บป่วย สิ่งรอบตัวที่ไม่พึงปรารถนา
“พิษภัยของความเครียดเรื้อรังจะนำชักนำให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคกระเพาะ และความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคทางจิตใจ เช่น วิตกกังวลและซึมเศร้า แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือความเครียดทำให้กระดูกพรุนได้เช่นกัน” ศ.นพ.นรัตถพล กล่าว
เขากล่าวว่า โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงภายหลังหมดประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดกระดูกหักอย่างไม่คาดคิดแม้จากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีกระดูกต้นขาหักจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถเดินได้ดังเดิมซึ่งส่งผลต่อ ผู้ป่วยและครอบครัวในระยะยาว
จากงานวิจัยในหลายประเทศและงานวิจัย ของเขาที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.) แสดงว่า ระบบประสาท ส่วนกลางทั้งสมองและไขสันหลัง ส่งเส้นประสาท มาควบคุมการทำงานของกระดูกโดยตรง
เซลล์สร้างกระดูกที่เรียกว่า “ออสติโอบลาสต์” ตอบสนองต่อสารเคมีจากปลายประสาทที่มาเลี้ยง แต่ผลที่ได้จะสร้างกระดูกเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีที่ปล่อยออกมาและตัวรับของสารเคมีนั้นๆ ที่อยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ ความเครียดที่มีต้นกำเนิดจากสมอง รวมถึงโรคของจิตใจที่สัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง กระตุ้นให้ปลายประสาทที่ควบคุมเซลล์สร้างกระดูกหลั่งสารเคมีหลายชนิด เช่น นอร์อิพิเนฟรินและเซโรโทนิน ซึ่งล้วนยับยั้งการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก แต่กลับเพิ่มการทำงานของเซลล์ออสติโอคลาสต์ ซึ่งทำหน้าที่สลายกระดูก ผลลัพธ์คือ มวลกระดูกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและสุดท้ายอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน หรือทำให้กระดูกพรุนที่เป็นอยู่แล้วรุนแรงขึ้น
ที่มา : เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต
Credit : http://www.never-age.com/