การเฝ้าระวังโรคติดต่อที่จะเข้ามาพร้อมการเปิด AEC เป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนก็จะมีนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มแรงงานต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าเราไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอก็อาจกลายเป็นปัญหาได้
นพ.ไพศาล เตชะวลีกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คลินิกวัคซีนกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โดยรวมโรคที่มักจะพบในภูมิภาคอาเซียนนั้นไม่แตกต่างกันมากนักเพราะสภาพภูมิประเทศและอากาศค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่อาจจำแนกได้ตามช่องทางการการติดเชื้อเป็น 3 กลุ่มใหญ่ โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ, โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งโรคที่ควรเฝ้าระวังหลักๆ มีดังนี้
1. กลุ่มการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
– ไข้หวัดใหญ่ โดยอาการทั่วไปเหมือนกับไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจะลุกลามเร็วกว่า และมีไข้สูงกว่าปกติมาก โดยอาการสำคัญผู้ป่วยจะอ่อนเพลียเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา ในเด็ก ส่วนผู้ใหญ่ไข้ประมาณ 38 องศา มีอาการคอแดง น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง การป้องกันสามารถทำได้โดยการล้างมือให้ถูกวิธี การรักษาความสะอาด การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้ ซึ่งควรได้รับวัคซีนทุกๆ 1 ปี และการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้กับบุคคลที่อยู่เคียงข้างเราได้
– โรคหัดและหัดเยอรมัน เป็นโรคติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดไข้ ผื่นที่ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลืองโต ถ้าเป็นในเด็กอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นในหญิงมีครรภ์อ่อน จะทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสพิการ สามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีน MMR (หัด หัดเยอรมัน คางทูม) ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าได้รับวัคซีนขณะตั้งครรภ์แล้วจะทำให้เกิดพิการแต่กำเนิด แต่แนะนำให้คุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีน และในปัจจุบันเราเพิ่มพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันที่เคยได้รับมาในวัยเด็กมีค่าต่ำลง ทำให้สามารถเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้
– โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ติดต่อและแพร่เชื้อได้ด้วยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่เป็น อีสุกอีใส หรืองูสวัด เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หรือที่นอน โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสมักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด โดยมากจะพบในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวตามลำดับ ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส ควรเริ่มใช้ภายในวันแรกที่มีอาการ มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ดี คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถนำบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ตั้งแต่วัย 1 ปีขึ้นไปซึ่งในผู้ที่ได้รับวัคซีนโรคอีสุกอีใสจนครบในอนาคต ก็จะไม่เป็นงูสวัดอีกด้วย
– โรคปอดอักเสบ คือ โรค IPD (Invasive Pneumococcal Disease) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย Pneumococcus หรือ เชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่นิยมเรียกกันว่าโรคปอดบวม หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด มีหนอง อักเสบบวม ทำให้ปอดจึงทำงานไม่ได้เต็มที่ ทำให้ระบบการหายใจมีปัญหา เกิดอาการไอมีเสมหะ หายใจหอบ เหนื่อย มีไข้สูง อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงนับว่าเป็นโรคร้ายเฉียบพลันชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถแพร่กระจายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน บางครั้งเชื้อมีการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
2. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น
-ไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม picornavirus เกิดจากรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเชื้อเข้าไป เชื้อไวรัสสามารถพบได้ในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการตั้งแต่น้อยไปถึงขั้นรุนแรงมากทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลัน ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลืองและตับวายได้ สำหรับการป้องกันโรคนี้ทำได้โดยการรักษาสุขอนามัย ความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ
-โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง แพร่เชื้อและติดต่อกันได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ สามารถพบบ่อยในเด็กนักเรียนและวัยรุ่น ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย ถ้าตรวจร่างกายก็จะพบว่าตับและม้ามโต การ การรักษาทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาตามอาการ การป้องกันก็สามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด
3. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี เชื้อไวรัสสามารถติดต่อผ่านทางเลือด หรือสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำลาย น้ำอสุจิ หรือน้ำหลั่งในช่องคลอดได้
-โรคตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบบี เริ่มต้นจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้ต่ำๆ เหนื่อยและอ่อนเพลีย บางรายจะเริ่มมีอาการดีซ่าน คือ ตัวเหลืองตาเหลือง สำหรับบางรายอาจไม่มีอาการที่รุนแรงและไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดก่อน เมื่อตรวจพบว่ายังไม่เคยได้รับเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนที่มีการใช้มานาน มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี ควรฉีดให้ครบ 3 เข็มในช่วงเวลา 6 เดือน เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน ส่วนไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอสไอวี ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน
ขอบคุณข้อมูล จาก Health Plus
Credit : http://health.sanook.com/