จี้ปรับวิธีจ่ายยา ′พาราฯ′ ห้ามกินเกินวันละ 8 เม็ด หวั่นเป็นพิษต่อตับ
เครือข่ายโรงพยาบาลฯราว 50 แห่ง ห่วงคนไข้กินยา ′พาราเซตามอล′ เกินขนาด จะเป็นพิษต่อตับ แนะ คุมการเบิกจ่ายในสถานพยาบาลห้ามกินเกินวันละ 8 เม็ด
เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายแพทย์พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศได้หารือถึงการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างสมเหตุผลเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ในท้องตลาดมีการวางจำหน่ายยาพาราฯหลายขนาดและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะขนาด650 มิลลิกรัม(มก.) ซึ่งมีความเสี่ยงว่าผู้ป่วยอาจได้รับยาเกินขนาดและเป็นพิษต่อตับ
ทั้งนี้เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าถ้าเจ็บป่วยต้องรักษาด้วยยาพาราฯ และต้องกินครั้งละ 2 เม็ดแต่ตามเกณฑ์มาตรฐานระบุไว้ที่ 1,000 มิลลิกรัมเท่านั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เริ่มส่งเสริมการใช้ยาดังกล่าวอย่างสมเหตุผลโดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลเป็นอันดับแรก กำหนดให้แพทย์สั่งจ่ายยาพาราฯแก่ผู้ป่วยหญิง จำนวน 1 เม็ด กินทุก 6 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยชายให้พิจารณาเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ให้เขียนกำกับบนฉลากยาด้วยว่า “ห้ามใช้ยาพาราฯเกิน 8 เม็ดต่อวันเพราะเป็นพิษต่อตับ
ซึ่งวันที่ 29 ตุลาคมจะมีพิธีลงนามความร่วมมือเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลต่างๆกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย
ขณะเดียวกัน ด้านแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ก็ได้เตรียมที่ จะเสนอให้อย.ทบทวนตำรับยาแบบยกเครื่องทุก 5 ปี เพราะพบว่ามียาบางชนิดมีตัวยาและสูตรยาไม่เหมาะสมทำให้ไม่ปลอดภัยและไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เช่น ลูกอมแก้เจ็บคอผสมยาปฏิชีวนะหรือยาพาราเซตามอล ที่สหรัฐอเมริกาประกาศลดขนาดเหลือ 350 มก.แต่ไทยยังมีขนาด 500 มก.ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการกินยาเกินขนาด
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/
เนื้อหาโดย นสพ.มติชน
Credit : http://women.sanook.com/