ร้อยทั้งร้อยในชีวิตนี้ทุกคนต้องเคยทานยาแก้ปวดมาทั้งนั้น
ซึ่งก็บรรเทาเบาบาง หรือไม่ก็หายปวดเป็นปลิดทิ้ง ทำให้ต้องพึ่งยาแก้ปวดกันเป็นประจำ หนำซ้ำบางรายยังไม่ทันปวด ทานไว้ก่อนเผื่อปวด และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีศูนย์ปวดท้องอาเจียนเป็นเลือด ส่องกล้อง และที่เราชอบมองข้ามไป คือ ไตวายครับ ยาแก้ปวดทำให้ไตวายได้ ต้องล้างไต ฟอกเลือดกันเป็นแถว
ในปี ค.ศ.2004 เป็นที่ฮือฮากันทั่วโลกเมื่อ ยาแก้ปวด ที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAID หรือ Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drug) และออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงโดยยับยั้ง Cyclo-Oxygenase-2 (COX-2 Inhibitor) ที่ชื่อว่า Vioxx (Rofecoxib) ถูกพบว่าทำให้เกิดคนตายจากหัวใจวายมากมาย จนทำให้บริษัทต้องถอนยาออกจากตลาด
ยาในกลุ่มนี้ยังมีอีกหลายตัวและอยู่ในตลาดของประเทศไทย ยากลุ่มนี้ไม่จริงที่ไม่กัดกระเพาะ เมื่อได้รับยากลุ่มนี้ก็มักจะได้แถมยาป้องกันโรคกระเพาะมาด้วย และก็มีผลต่อไตเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นยังมีผลข้างเคียงทำให้เกิดหัวใจวาย ยา ได้แก่ Cele–brex (Celecoxib) Arcoxia (Etoricoxib) Dynastat (Parecoxib) ยาในกลุ่ม NSAID และไม่ได้มีฤทธิ์เจาะจงต่อ COX-2 มีหลายตัว
เช่น Voltaren (Diclofenac) Indocid (Indomethacin) Clinoril (Sulindac) (Phenylbutazone) Ponstan (Mefenamic acid) Mobic (Meloxicam) Feldene (Piroxicam) Brufen (Ibuprofen) Naprosyn (Naproxen) Aspirin (Acetylsalicylic acid) (Nimesulide)
ในประเทศไทยยาเหล่านี้มีหลายชื่อทางการค้า ถึงแม้จะเป็นยาตัวเดียวกัน ถ้าผลิตจากต่างบริษัทกัน ชื่อในวงเล็บคือชื่อสามัญ ดังนั้น เวลาใช้ต้องถามคนขายหรือเภสัชกรให้แน่ชัดว่าซ้ำซ้อนกับยาที่ใช้อยู่หรือเปล่า
ยาในกลุ่ม NSAID ทั้งที่เจาะจงและที่ไม่เจาะจงกับ COX–2 นี้ เวลาใช้ต้องระวังหรือใช้ไม่ได้ในคนที่มีตับและไตไม่สมบูรณ์
รายงานจากมหาวิทยาลัย Bern ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) ในวันที่ 11 มกราคม 2011 โดย นายแพทย์ Sven Trelle และคณะ โดยมีนายแพทย์ Peter JÜni เป็นผู้นำคณะ ทำการรวบรวมวิเคราะห์การศึกษาเกี่ยวกับยา NSAID ทั้งหมด 31 ชิ้น…
ซึ่งมีการติดตามผลกระทบหรือผลข้างเคียงต่อสุขภาพในผู้ป่วย 116,429 ราย ที่ใช้ยา Naproxen Ibuprofen Diclofenac Celecoxib Etoricoxib Lumiracoxib Rofecoxib พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายเท่าต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ และการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและเส้นเลือดทั้งหมด (ซึ่งรวมหัวใจล้มเหลว จากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง หัวใจเต้นผิดปกติ ลิ่มเลือดอุดเส้นเลือดในปอดเข้าไปด้วย)
ความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบเรียงลำดับจากอันตรายมากมาหาน้อย
ได้แก่ Rofecoxib (ถอนจากตลาดทั่วโลกตั้งแต่ปี 2004) (2.12 เท่า) Lumiracoxib (2 เท่า) Ibuprofen (1.61 เท่า) Celecoxib (1.35 เท่า) Naproxen และ Diclofenac (0.82 เท่า) Etoricoxib (0.75 เท่า) เมื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์หรือเส้นเลือดสมองตีบ ที่ลด หลั่นกันมาจากสูงไปหาต่ำ ได้แก่ Ibuprofen (3.36 เท่า) Diclofenac (2.86 เท่า) Lumiracoxib (2.81 เท่า) Etoricoxib (2.67 เท่า) Naproxen (1.76 เท่า) Celeloxib (1.12 เท่า) และ Rofelcoxib (1.07 เท่า)
และเมื่อรวมความเสี่ยงอันเกี่ยวเนื่องกับระบบหัวใจและเส้นเลือดทั้งหมด
ตัวที่อันตรายที่สุด คือ Etoricoxib หรือ ชื่อการค้าคือ Arcoxia (4.07 เท่า) Diclofenac หรือ Voltaren (3.98 เท่า) Ibuprofen หรือ Brufen (2.39 เท่า) Celecoxib หรือ Celebrex (2.07 เท่า) Lumiracoxib (1.89 เท่า) Rofecoxib หรือ Vioxx (1.58 เท่า) และ Naproxen หรือ Napro-syn (0.98 เท่า)
ยาแก้ปวดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจาะจงหรือไม่เจาะจงกับ COX-2 ไม่มีกลุ่มใดหรือตัวใดปลอดภัยเลย โดยที่ถ้าไม่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบก็เกิดเป็นอัมพฤกษ์จากเส้นเลือดสมองแทน หรือไม่ก็มีผลทางอ้อมต่อการตายอันเกี่ยวเนื่องกับระบบเหล่านี้ ถ้าตัด Rofecoxib ไป (เพราะไม่มีจำหน่ายแล้ว) Lumiracoxib คือยาอันตรายสุดต่อเส้นเลือดหัวใจ (2 เท่า) Ibuprofen เสี่ยงสูงสุดต่ออัมพฤกษ์ (3.36 เท่า) ตามด้วย Diclofenac (2.86 เท่า) Etoricoxib เสี่ยงสูงสุดต่อการตายทั้งหมดอันเกี่ยวเนื่องกับระบบหัวใจเส้นเลือด (4.07) ตามด้วย Diclofenac (3.98)
ในประเทศสหรัฐฯ คนไข้ที่ไปพบแพทย์ มีไม่ต่ำกว่า 5% ที่จะได้รับยาแก้ปวด แก้อักเสบเหล่านี้ ในประเทศไทยน่าจะมีมากกว่านี้ ทั้งนี้ เพราะเป็นที่เคยมือของแพทย์ที่จะสั่งยาแก้ปวดให้คนไข้ที่มาด้วยอาการปวดเมื่อย ปวดข้อ กระดูก ปวดเข่า ปวดหัว และยาเหล่านี้สามารถซื้อหาได้ทั่วไป ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าต้องใช้ยาเมื่อมีความจำเป็น ยาที่ใช้เป็นการรักษาที่ต้นตอหรือสาเหตุ หรือเพียงเพื่อบรรเทาอาการ ยามีผลข้างเคียงหรือแทรกซ้อนอะไรบ้าง
ยาแก้ปวดจึงเป็นยาที่เพียบพร้อมมีอันตรายต่อกระเพาะ หลอดอาหาร กรดไหลย้อน ไต ตับ หัวใจ สมอง นึกถึงยาแก้ปวดเมื่อไหร่นึกถึง ICU ด้วยนะครับ.
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
Credit : http://www.never-age.com/