แฟ้มภาพ
ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมีสูงมาก โดยเริ่มหันกลับมาบริโภคอาหารแบบคนสมัยก่อน เพราะพบว่าการทานแบบนั้นทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน้อยกว่า หนึ่งในอาหารที่นิยม คือเมล็ดธัญพืชจากต่างประเทศ คือควินัว และเมล็ดเชีย ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิด ถือเป็นอาหารโบราณที่รับประทานกันมานาน แต่ไม่ใช่พืชเขตร้อนที่พบในไทย ส่วนใหญ่จะพบทางอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ โดยพบว่าทั้ง 2 ชนิด มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างจากธัญพืชของไทย ที่มีสารอาหารคล้ายกัน เช่น ธัญพืชหลากสี ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วดำ เป็นต้น แต่ที่คนไทยสนใจธัญพืชต่างประเทศเพราะมีการวิจัยคุณค่าทางโภชนาการ เรื่องสารอาหารมากกว่าพืชไทย
ผศ.ดร.อาณดีกล่าวต่อว่า ระยะหลังในไทยมีความสนใจธัญพืชมากขึ้น มีการนำธัญพืชหลากสีมารับประทาน ถือเป็นอาหารที่ให้สารอาหารไม่แตกต่างกัน กับควินัวและเมล็ดเชีย และทั้ง 2 ชนิด ก็ไม่ได้พิเศษกว่าธัญพืชของไทย สำหรับพืชของไทย เช่น ลูกเดือย และธัญพืชต่างๆ ที่คนไทยยังไม่นิยมรับประทานมากนั้น เพราะยังไม่เคยทำวิจัยเทียบเคียงธัญพืชต่างๆ ที่มีในไทย กับควินัวและเมล็ดเชีย เนื่องจากยังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องรับประทานควินัวและเมล็ดเชีย ทดแทนธัญพืชที่มีในไทย
หลักสำคัญคือ ไม่ควรไปคิดว่าจะมีพืชหรืออาหารชนิดเดียวที่จะเป็นยาครอบจักรวาล แต่ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากชนิด เพราะนอกจากจะให้ประโยชน์ทางแง่โภชนาการและสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ก็ยังจะช่วยลดความเสี่ยงจากสารตกค้างจากอาหารบางชนิดได้อีกด้วย ทั้งควินัวและเมล็ดเชีย หากอยากรับประทานก็ทานได้ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อทุกวัน เพราะมีราคาสูง สามารถรับประทานกันได้ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและรสชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด