กระทรวงสาธารณสุข เตือนกินหวานจัดทำอ้วน-ฟันผุ ชี้น้ำขวดใส่ฟลุกโตส-เสี่ยงตับแข็ง
ทญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า น้ำตาลถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่ร่างกายต้องการ โดยพบว่าอาหารทุกประเภทจะมีน้ำตาลประกอบอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผลไม้ โดยร่างกายต้องการน้ำตาลกลูโคส เพื่อส่งพลังงานไปเลี้ยงสมอง โดยน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีปริมาณน้อย แต่เป็นห่วงน้ำตาลที่เติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 83.6 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 16.7 ช้อนชา สูงกว่าคำแนะนำที่ให้บริโภคได้ไม่เกินวันละ 6 ช้อน
ทญ.จันทนากล่าวต่อว่า การบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งพบว่าตัวเลขสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง และจะพบว่าผู้หญิงวัยกลางคนจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ชายเป็นเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาฟันผุ ซึ่งพบว่าเด็กอายุ 5 ขวบ ฟันผุถึงร้อยละ 80 ส่วนเด็กอายุ 3 ขวบสถานการณ์ฟันผุดีขึ้น หลังจากไทยมีกฎหมายห้ามเติมน้ำตาลในนมของเด็ก ทำให้อัตราฟันผุร้อยละ 60 ลดลงเหลือร้อยละ 49 แต่โดยรวมถือว่ายังสูงอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ พฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทยพบว่า แหล่งน้ำตาลส่วนใหญ่จะมาจากเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มบรรจุขวด ที่น่าเป็นห่วงเพราะหันมาใช้น้ำตาลฟลุกโตสไซรับสังเคราะห์ แทนน้ำตาลทราย เพราะเข้มข้นสูงทำให้ลดต้นทุนการขนส่ง น้ำตาลประเภทนี้ถ้ารับประทานมากเกินไป และร่างกายเผาผลาญไม่หมด จะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ทำให้อ้วนลงพุง เสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็ง เพราะน้ำตาลประเภทนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะตรงไปที่ตับ ก่อนที่ร่างกายจะดึงไปใช้ เมื่อเผาผลาญไม่หมดก็จะเกาะอยู่ที่ตับ
ดังนั้น ประชาชนควรจะอ่านฉลากให้ละเอียดและเลือกดื่มเครื่องดื่มหวานจัดอย่างพอเหมาะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
Credit : http://www.never-age.com/