“กล้วย” พืชประโยชน์สารพัดนึก แต่หากบริโภคไม่คิด มีสิทธิ์ถึง “ตาย”

act01221057p1

“กล้วย” เป็นพืชที่ขึ้นทั่วๆ ไปในเขตร้อน โดยเฉพาะในบ้านเราประเทศไทยมีความคุ้นเคยกันมาแต่โบร่ำโบราณ คนไทยสมัยก่อนปลูกเป็นไม้ประจำ “บ้าน” เลยทีเดียว มีแทบทุกบ้านช่อง เพื่อใช้ประโยชน์สารพัดที่ผู้เขียนคุ้นเคยมากๆ เมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมา ปู่ ย่า ตา ยาย คุณพ่อ คุณแม่สมัยก่อนจะนิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงทารก

โดยเฉพาะพออายุได้ 1 เดือน ผู้เฒ่าผู้แก่จะนิยมบดกล้วยเละๆ เรียกภาษาชาวบ้านว่า “กล้วยบด” แล้วป้อนให้ลูกหลานกินเป็นอาหารเสริมประจำวันนอกจาก “นมแม่” ว่าไปแล้วคุณแม่ของผู้เขียนเองก็เคยป้อนกล้วยบดให้กินเช่นเดียวกันนอกจากนมแม่

มีเหตุการณ์ประทับใจอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องกล้วยเมื่อประมาณปี2517ขณะนั้นผู้เขียนเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลสิงห์บุรีออกตรวจผู้ป่วยนอก(OPD) พบคุณแม่ทารกรายหนึ่งพาลูกชายอายุ 1 เดือนเศษไปโรงพยาบาลด้วยอาการท้องอืด อาเจียน กระสับกระส่าย ร้องไห้ไม่ยอมหยุด หลังจากป้อนกล้วยได้ 1 ชั่วโมง ผู้เขียนได้ซักว่าก่อนหน้ามาโรงพยาบาลได้เลี้ยงลูกทารกอย่างไร อะไรบ้าง ได้ประวัติว่า คุณย่าบดกล้วยให้หลานกินจนอิ่ม หลังจากนั้น 3-4 ชั่วโมง มีอาการร้องไห้ไม่หยุด ท้องอืดขึ้นเรื่อยๆ จึงมาโรงพยาบาลสิงห์บุรี

ผู้เขียนได้ตรวจร่างกายพบว่าท้องอืดโป่งพอง เคาะท้องมีเสียงลมเต็มในช่องท้อง เด็กกระสับกระส่าย เคาะบริเวณท้องแถวรอบๆ สะดือมีเสียงคล้ายๆ มีลมในท้อง จึงได้ส่งเด็กไปเอกซเรย์ พบว่ามีลมแทรกอยู่ในช่องท้องใต้กระบังลม จึงได้วินิจฉัยว่าเด็กคนนี้กระเพาะแตกจากคุณย่าป้อนกล้วย จึงรีบนำไปผ่าตัดเปิดช่องท้องพบกล้วยน้ำว้าเต็มท้อง ได้เอาออกแล้วล้างช่องท้อง เย็บแผลกระเพาะติดกันเอาไว้ที่เดิม ผู้ป่วยรายนี้อยู่โรงพยาบาล 3-4 วัน มีอาการติดเชื้อ ไข้สูง จึงเสียชีวิต

นี่คือเหตุการณ์หนึ่งของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย 50 ปีเศษขึ้นไป นิยมการเลี้ยงลูกตามวัฒนธรรมประเพณีการเลี้ยงดูมาแต่โบราณ ด้วยความไม่รู้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิด ความระมัดระวังน้อย จึงเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเป็นข้อพึงสังวรของคนรุ่นใหม่ขณะนี้เหตุการณ์เช่นนี้น้อยลง หรือไม่เกิดแล้วในประเทศไทย

แต่ ณ วันนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศไทยเรา โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีโครงการรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และนอกจากนี้ กรมอนามัย โดย “กองอนามัยครอบครัว” ได้เสนอให้บรรจุการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็น “จปฐ” (ความจำเป็นพื้นฐาน) ของประชาชน เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตมีสติปัญญา อารมณ์เข้ากับสังคมได้ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มในปี 2538-2539 จนถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนเลยนำ “กล้วย” มาช่วยขยายความให้กระจ่างขึ้นในมิติต่างๆ

14139447931413944820l

“กล้วย” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Musa ABB group (Triploid) CV” “Nam Wa”-กล้วยน้ำว้า ชื่อภาษาอังกฤษ Banana, Cultivated banana

ชื่อท้องถิ่น กล้วยมะลิอ่อง กล้วยกะทิอ่อง กล้วยไข่ กล้วยใต้ กล้วยนาก กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง กล้วยส้ม กล้วยหอม กล้วยหอมจันทร์ กล้วยหักมุก กล้วยยาไข่ กล้วยสะกุย

“กล้วย” จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มี “ลำต้น” อยู่ใต้ดินที่เราเรียกกันว่า “หน่อกล้วย” ส่วนที่เหนือต้นเป็นลำต้นเทียม เกิดจากภายในห่อหุ้มซ้อนกัน มีลักษณะคล้ายเป็นลำต้นใบเดียวขนาดใหญ่ออกเรียงเวียนสลับกันรูปขอบขนาน ปลายตัด ขอบเวียน เส้นกลางใบแข็งมีเส้นใยจำนวนมากออกจากเส้นกลางไปทั้ง 2 ข้าง ขนานกันไปจรดขอบใน

ก้านใบยาวเป็นส่วน ดอกออกเป็นช่อเรียกว่า “ปลี” ห้อยลง ก้านช่อดอกแข็ง ดอกย่อยแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน

ดอกเพศเมียจะอยู่ตอนล่างของช่อดอกและบานก่อน แต่ละช่อย่อยจะรองรับด้วยใบประดับขนาดใหญ่สีม่วงแดง (กาบปลี) ดอกย่อยรูปทรงกระบอก มีกลีบดอก 6 กลีบ มี 1 กลีบเดี่ยวขนาดเล็ก ที่เหลืออีก 5 กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก “ผล” ทรงกระบอกหรือมีเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกหนาสีเขียว เมื่อสุกเปลือกจะมีสีเหลือง มีรสหวานรับประทานได้

ส่วน “ผลดิบ” ใช้เป็นยาสมุนไพร รักษาอาการจุกเสียดและอาการท้องเสีย

“กล้วย” เป็นพืชที่มีคุณค่า เป็นพืชประจำครัวเรือน ยังมีคำคำหนึ่งที่เป็นมงคลว่า ปลูกเอาไว้หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ได้ จะทำอะไรก็ให้สำเร็จง่ายๆ แบบ “กล้วยๆ” กล้วยเป็นพืชใช้ประโยชน์ได้สารพัดทุกๆ ส่วนของกล้วย นอกจากเป็นอาหารแล้ว ลำต้น ใบ…และอื่นๆ มีคุณค่า ได้แก่ ส่วนที่ใช้ผลดิบ ผลสุก หัวปลี ผล ใบ และราก

คุณค่าทางโภชนาการให้คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน กากไฟเบอร์ กรดอะมิโน วิตามินเอ บี ซี แคลเซียม เหล็ก โพแทสเซียม ทองแดง แทนนิน

สรรพคุณและการใช้ประโยชน์

ผลดิบ : ใช้ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาท้องเสียเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย โดยหั่นทั้งเปลือกเป็นแว่นตากแห้งแล้วบดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ดหรือชงในน้ำร้อนดื่ม ใช้ครั้งละประมาณเท่ากับกล้วยครึ่งซีกหนึ่งผล หรือนำผลมาใช้โรยรักษาแผลเน่าเปื่อย แผลติดเชื้อ แผลเรื้อรัง

ผลสุก : ช่วยขับถ่ายระบายท้อง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและเชื้อรา แก้ท้องผูก บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

กล้วยสุก ผู้เขียนเองมีประสบการณ์ตรง รับประทานวันละ 1-2 ผล อาทิตย์กิน 2-3 วัน ช่วยขับถ่ายได้ดี ท้องไม่อืดไม่เฟ้อ “ต้นแบบ” ที่ผู้เขียนสัมผัสมาคือท่านหลวงพ่อจรัญ ฐิตธฺมโม เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ท่านฉันกล้วยน้ำว้าสุกทุกวัน วันละ 1-2 ผล ขณะนี้อายุ 85 ปีแล้วแข็งแรงดี ผิวพรรณผ่องใส หลวงพ่อบอกท้องไม่อืด ขับถ่ายดีมาก สบายดี ที่สำคัญคือ ผู้เขียนประทับใจที่ท่านมีผิวพรรณ “เปล่งปลั่ง” เสมอ น่าสนใจ

14139447931413944867l

เปลือกผลดิบ : ใช้สมานแผล

หัวปลี : แก้โรคลำไส้ แก้โลหิตจาง ลดน้ำตาลในเลือด แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงน้ำนม บำรุงโลหิต คั้นน้ำบำรุงโลหิตแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด

ยาง : ใช้สมานแผล ห้ามเลือด

ใบ : ใช้ต้มอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน ปิ้งปิดแผลไฟไหม้

ราก : ต้มดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไอ ท้องเสีย แก้บิด แก้ผื่นคัน

กาบต้น : ลำต้นใช้ทำเชือก ทำแพ เลี้ยงหมู และประเพณีลอยกระทง ใช้ทำกระทงลอยน้ำ

นอกจากนี้ ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของบางจังหวัด เช่น สุโขทัย เขาจะปลูกกล้วยมากทั้งอำเภอ เช่น อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง ชาวบ้านจะตัด “ใบตอง” ขึ้นรถ 10 ล้อไปขายที่ท่าเตียน หรืออย่างกล้วยไข่ ต้องไปที่จังหวัดกำแพงเพชร กล้วยเล็บมือนางต้องไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

สิ่งอื่นที่ควรต้องรู้เพิ่มเติมคือ สารสำคัญๆ ฤทธิ์ทางเภสัช อาหารเป็นพิษผลข้างเคียงอื่นๆ เพราะอะไรที่มีประโยชน์ก็ต้องมีโทษที่เราควรต้องรู้ จะได้ “พึงระวัง ป้องกัน ไม่ให้เกิดกับตัวเรา”

สารสำคัญที่มีอยู่ใน “กล้วย” คือ “สารแทนนิน” มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้

สาร Sitoindoside เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ (Steriod) เพราะฉะนั้น การใช้ระยะยาวจึงต้องระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่มีผู้ศึกษาพิษเรื้อรังของสารกลุ่มนี้

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา : สิ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยว่า “กล้วย” คนส่วนใหญ่ที่กินกันเป็นประจำ นอกจากจะซื้อหาง่าย ราคาถูก สะดวกกิน ยังส่งผลในการได้รับวิตามิน ท้องไม่อืด ในเรื่องระบายท้องเป็นหลัก กล้วยยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของท้องเสียที่ทำให้เกิดโรคไทฟอยด์อีกด้วย

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยเฉพาะรายที่กินยาแก้ปวดไขข้ออักเสบต่างๆเช่นกลุ่มยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) และยังเชื่อว่าแป้งจากผลกล้วยออกฤทธิ์สมานแผลและเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อเมือกในทางเดินอาหารได้ด้วย

ผู้เขียนเห็นว่า”กล้วย”เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์สารพัดนึกขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยแตกหน่อ

“คนไทย” สมัยก่อนใช้ปลูกเป็นไม้คู่บ้านคู่เรือนของคนไทย มีทุกบ้านเรือน นอกจากปลูกหรือเป็นสิ่งมงคลของบ้าน ขอให้บ้านนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้อะไรก็บรรลุวัตถุประสงค์โดยสะดวก แต่ที่สำคัญ เวลา “คน” จะเข้าเรือนออกเรือน โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวในพิธีมงคลสมรส เขาใช้ “ต้นกล้วย” ทั้งต้น มี “เครือกล้วย” ใช้ยก “ต้นกล้วย” นำแห่ขันหมากของฝ่ายชาย “เจ้าบ่าว” ไปสู่ขอ “เจ้าสาว” มักจะมีต้นอ้อยควบคู่ไปด้วย

คนโบราณเขาถือเคล็ดว่า ขอให้มีการสู่ขอให้ประสบความสุขความสำเร็จในครอบครัว เจริญงอกงาม มีลูกๆ หลานๆ ออกมาสืบตระกูลที่อุดมสมบูรณ์คือ การแตกหน่อแตกกอของหน่อกล้วยและต้นอ้อยที่เจริญงอกงาม

แต่ผู้เขียนต่อเติมว่า ขอให้เจ้าบ่าวสู่ขอฝ่ายหญิงโดยพ่อตาแม่ยายยินยอมยก “ลูกสาว” ให้ฝ่ายชายง่ายดายเหมือน “ปอกกล้วยเข้าปาก” ไงเล่าครับ

โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Credit : http://campus.sanook.com/

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *