รอยเตอร์ – ประชากรสัตว์ของโลกไม่ว่าจะเป็นปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน มีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 52 ระหว่างปี 1970-2010 รวดเร็วเกินกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund – WWF) รายงานวันนี้(30)
รายงาน Living Planet Report ซึ่งเผยแพร่ทุกๆ 2 ปี ระบุว่า มนุษย์ในปัจจุบันมีความต้องการบริโภคทรัพยากรเกินกว่าที่ธรรมชาติจะผลิตให้ได้ถึงร้อยละ 50 ป่าไม้ถูกตัดโค่น น้ำใต้ดินถูกสูบขึ้นไปใช้ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศเร็วกว่าที่โลกจะฟื้นตัวได้ทัน
“ความสูญเสียเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่มนุษย์เราเลือกที่จะใช้ชีวิตกันแบบนี้” เคน นอร์ริส ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์จากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) ระบุในถ้อยแถลง
อย่างไรก็ดี รายงานชี้ว่า ความหวังยังพอมีอยู่บ้าง หากนักการเมืองและภาคธุรกิจทั่วโลกร่วมใจกันปกปักรักษาธรรมชาติอย่างถูกต้องและจริงจัง
“ในขณะที่ยังทำได้ เราควรฉวยโอกาสนี้พัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างยั่งยืน และสร้างอนาคตที่มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างรุ่งเรืองและสอดคล้องกับธรรมชาติ” มาร์โก ลัมแบร์ตินี เลขาธิการใหญ่นานาชาติของ WWF ระบุ พร้อมอธิบายว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่แค่การปกป้องผืนป่า แต่เป็นการปกป้องอนาคตของมนุษยชาติเอาไว้ด้วย
รายงานในส่วนของประชากรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังพบว่า สัตว์กลุ่มนี้ลดลงมากที่สุดในประเทศเขตร้อน โดยเฉพาะแถบละตินอเมริกา
ดัชนี Living Planet Index ของ WWF เป็นการสรุปแนวโน้มการเพิ่มขึ้นและลดลงของประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลา มากกว่า 3,038 ชนิด
WWF ชี้ว่า อัตราการลดลงของประชากรสัตว์ถึงร้อยละ 52 นั้นสูงกว่าที่เคยรายงานไว้มาก ส่วนหนึ่งเพราะงานวิจัยชิ้นก่อนๆ อ้างอิงข้อมูลจากภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นหลัก โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รายงานฉบับเดียวกันนี้อ้างการลดลงของประชากรสัตว์เพียงร้อยละ 28 ระหว่างปี 1970-2008
สัตว์ที่จำนวนประชากรลดลงมากที่สุดได้แก่ ปลาน้ำจืด ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 76 ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัตว์ทะเลและสัตว์บกลดลงประมาณร้อยละ 39
สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์เหล่านี้ลดลงคือ การสูญเสียที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การล่าของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
รายงานฉบับนี้ยังวัดค่า “รอยเท้านิเวศ” (ecological footprint) ซึ่งหมายถึงผลกระทบที่แต่ละประเทศมีต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง “ความสามารถทางชีวภาพ” (biocapacity) ซึ่งก็พบว่า คูเวตมีรอยเท้านิเวศใหญ่โตที่สุด หมายความว่าชาวคูเวตใช้ทรัพยากรและทิ้งของเสียมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบต่อหัวประชากร รองลงมาได้แก่ กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
“หากประชากรทั่วโลกมีค่ารอยเท้านิเวศเท่าชาวคูเวต เราจะต้องมีโลกถึง 4.8 ใบจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ และหากเราใช้ชีวิตแบบชาวอเมริกันกันหมดทุกคน เราก็จะต้องการโลก 3.9 ใบ” รายงานของ WWF เผย
ประเทศที่ยากจนกว่า เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีค่ารอยเท้านิเวศอยู่ในระดับที่โลกยังสามารถรองรับได้
Credit : http://www.manager.co.th/