เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงอังเกลา แมร์เคิลตกเป็นข่าวเตรียมผลักดันกฎหมายด้านแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหา ห้าม “เจ้านาย” กระทำการติดต่อ “ลูกน้อง” ในองค์กรของตนในทุกรูปแบบหลังพ้น “เวลาทำงาน” ทางการชี้ กฎหมายใหม่จะช่วยลดทอนความเครียดให้กับบรรดา “มนุษย์เงินเดือน”ทั้งหลาย ที่ต้องทนทุกข์กับการถูกเจ้านายตามจิก-สั่งงาน หลังเลิกงาน
รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงเบอร์ลินระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กวัย 60 ปีเตรียมผลักดันให้รัฐสภาเมืองเบียร์ผ่านความเห็นชอบต่อร่างกฏหมายด้านแรงงานฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาหลักในการปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของบรรดาลูกจ้างทั่วประเทศ หลังได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้างจำนวนหลายล้านคนที่ยังคงต้องคอยรับโทรศัพท์ หรือ ตอบอีเมล์ของผู้บังคับบัญชา-หัวหน้างานของตนหลังเวลาเลิกงาน
นางอันเดรีย นาห์เลส รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงแรงงานและกิจการทางสังคมของเยอรมนี ออกมาเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่าร่างกฏหมายฉบับใหม่นี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการลดทอนผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจ และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากความเครียดในการทำงานให้กับบรรดา “มนุษย์เงินเดือน” ทั้งหลาย
“เราต้องการสร้างหลักประกันที่มีผลในทางกฎหมายให้กับแรงงานทั่วประเทศว่า พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและมีความสุขหลังจากเลิกงานแล้วในแต่ละวัน โดยไม่ต้องคอยรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมล์จากพวกเจ้านายที่ไม่รู้กาลเทศะอีกต่อไป และทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ บรรดาเจ้านายที่น่ารำคาญก็จะไม่มีสิทธิ์ว่ากล่าวหรือตัดค่าจ้าง หากพนักงานของตนไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมล์หลังเลิกงาน” รัฐมนตรีแรงงานและกิจการสังคมของเยอรมนีกล่าว
ด้าน “ไรนิชเชอ โพสต์” หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ และมียอดจำหน่ายมากกว่าวันละ 400,000 ฉบับ รายงานว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลเยอรมนีมีขึ้น หลังจากที่สหภาพแรงงานอันทรงอิทธิพลของเยอรมนีอย่าง “Vereinte Dienstleistungsgewerkschaft” ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลนางแมร์เคิลเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้มีการ “แก้ไขกฎหมายเก่า” หรือ “ออกกฎหมายใหม่”เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของลูกจ้างทั่วประเทศ หลังพ้นเวลาทำงานไปแล้ว
ขณะที่ศาสตราจารย์ โธมัส โคห์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวเยอรมัน จาก “บอสตัน คอลเลจ” ในสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยสร้าง “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนระหว่างเวลาทำงานและเวลาหลังเลิกงาน ตลอดจนจะช่วยสร้างค่านิยมใหม่ที่ว่า การที่พนักงานยังคงต้องทำงานทั้งที่อยู่นอกเวลางานถือเป็น “สิ่งที่เลวร้าย” และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการ “บริหารเวลา” ในชีวิต
รายงานข่าวระบุว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่าง “โฟล์คสวาเกน” และ “เดมเลอร์” ต่างแสดงท่าทีตอบรับการผลักดันร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ โดยเริ่มทยอยออกคำสั่งเป็นการภายในเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ให้พนักงานในองค์กรของตนสามารถ “ลบอีเมล์” ที่ถูกส่งมาจากหัวหน้างานทิ้งได้ หากพนักงานอยู่ระหว่าง “ลาพักร้อน” พร้อมขอความร่วมมือบรรดาผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ให้ “งดเว้นการติดต่อลูกน้องของตน” นอกเวลางาน
อย่างไรก็ดี โดมินิก เอห์เรนเทราต์ โฆษกกระทรวงแรงงานและกิจการทางสังคมของเยอรมนีออกมาเปิดเผยว่า อาจต้องรอจนถึงปี ค.ศ. 2016 กว่าที่ร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากทางรัฐสภาของเยอรมนีที่จะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบต่อร่างกฏหมายนี้ ต้องการรอดูผลการศึกษาข้อดี-ข้อเสียที่แน่ชัดในประเด็นนี้เสียก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหภาพแรงงานหลายแห่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “ฝรั่งเศส” ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแดนน้ำหอมออกกฎหมายสั่งห้ามเจ้านาย ส่งอีเมล์ถึงลูกน้องของตนโดยเด็ดขาดหลังเวลา 18.00 น. ไปแล้ว
Credit : http://www.manager.co.th/