เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – สวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ กอดคอครองแชมป์และรองแชมป์ ในตารางขีดความสามารถแข่งขันของประเทศทั่วโลกประจำปีล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ขณะที่อเมริกาขยับขึ้นมา 2 ขั้นโดยรั้งอันดับ3 และญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความคืบหน้าที่สุดในกลุ่มท็อป 10 สำหรับประเทศไทยพุ่งขึ้นมาถึง 6 อันดับอยู่ที่ 31
ดับเบิลยูอีเอฟ ซึ่งยังเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกเป็นประจำทุกปีที่เมืองดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศและดินแดนทั่วโลกประจำปี 2014-2015 เมื่อวันพุธ (3 ส.ค.) ซึ่งปรากฏว่า สวิตเซอร์แลนด์ยังรั้งอันดับ 1 ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เช่นเดียวกับอันดับ 2 ที่ยังคงเป็นของสิงคโปร์เหมือนปีที่แล้ว
อเมริกาที่ครองแชมป์เมื่อ 7 ปีก่อน แต่ถูกวิกฤตภาคการเงินฉุดลงไปจนอยู่ที่ 7 นั้น ยังคงมีผลงานดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จนปีนี้สามารถครองอันดับ 3 หรือขยับขึ้น 2 ขั้นจากปีที่ผ่านมา
ฟินแลนด์และเยอรมนี เจ้าของอันดับ 4 และ 5 ตามลำดับ ต่างก็ขยับลงไปประเทศละ 1 ขั้น
ทั้งนี้ ในบรรดาท็อป 10 ของปีนี้นั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด โดยไต่เต้าขึ้นมาถึง 3 ขั้น อยู่ในอันดับ 6
สำหรับอันดับ 7 และ 8 เป็นของฮ่องกงและเนเธอร์แลนด์เหมือนเช่นปีที่แล้ว ขณะที่อังกฤษขยับจากที่ 10 เป็นที่ 9 และสวีเดนหล่นจากที่ 6 อยู่ที่ 10
รายงานผลการจัดอันดับของปีล่าสุดนี้ ระบุว่า พวกประเทศผู้นำในตารางนี้ล้วนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการพัฒนา การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากผู้มีความรู้ความสามารถที่หามาได้ ตลอดจนในการลงทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ทั้งนี้ การลงทุนอย่างชาญฉลาดและมีเป้าหมายชัดเจนของประเทศเหล่านี้ สามารถดำเนินการไปได้ ก็ด้วยแนวทางที่อิงอยู่กับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
ทุกๆ ปี ดับเบิลยูอีเอฟจะจัดอันดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศและดินแดนทั่วโลก โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ 12 ประการ เป็นต้นว่า สถาบันต่างๆ, โครงสร้างพื้นฐาน, ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค, การศึกษาและการฝึกอบรม, ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน, ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างภาพเชิงเปรียบเทียบให้เห็นสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนขีดความสามารถแข่งขัน ประสิทธิภาพ และความมั่งคั่งในหมู่ 144 ประเทศและดินแดนเหล่านี้
รายงานฉบับล่าสุดนี้ พูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า ยังคงอยู่ในความเสี่ยง ถึงแม้โลกจะได้ผ่านช่วงเวลาในการดำเนินนโยบายการเงิน “ที่ห้าวหาญ” มาหลายปีแล้ว โดยที่ประเทศจำนวนมากยังต้องต่อสู้ดิ้นรนในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ อันจำเป็นสำหรับช่วยให้เศรษฐกิจของตนเติบโตต่อไป
เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารดับเบิลยูอีเอฟเสริมว่า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังตึงเครียด รายได้ที่ไม่เท่าเทียม และแนวโน้มการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนต้องเผชิญความเสี่ยง ดังนั้น จึงควรทำการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อรับประกันการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป
ตลาดเกิดใหม่ถอยเป็นแถว แต่อาเซียนคึกคักโดดเด่น
ในส่วนของพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ชั้นนำนั้น รายงานชี้ว่าในปีนี้ต่างพากันตกอันดับกันระนาว เริ่มจากซาอุดีอาระเบียซึ่งอยู่อันดับ 24 จากที่ 20 เมื่อปีที่แล้ว, ตุรกีลดลง 1 ขั้นอยู่ที่ 44, แอฟริกาใต้ 56 จาก 53, เม็กซิโกหล่นมา 61 จาก 55 และอินเดียถอยหลังถึง 11 อันดับ อยู่ที่ 71 มีเพียงจีนรอดพ้นวังวนนี้โดยขยับขึ้นมา 1 ขั้นอยู่ที่อันดับ 28
เมื่อมองเฉพาะภาพรวมของเอเชีย รายงานมองว่าภูมิทัศน์ของความสามารถทางการแข่งขันของชาติต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในมหาทวีปแห่งนี้ยังคงผิดแผกแตกต่างกันชนิดเหมือนอยู่คนละโลก อย่างไรก็ดี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามีขีดความสามารถอันคึกคักจนโดดเด่นเตะตาทีเดียว โดยนอกจากสิงคโปร์ ซึ่งนำโด่งติดอันดับ 2 แล้ว พวกชาติใหญ่ๆ ทั้ง 5 ในสมาคมอาเซียน อันได้แก่ มาเลเซีย (อันดับ20), ไทย (31), อินโดนีเซีย (34), ฟิลิปปินส์ (52), และเวียดนาม (68) ต่างก็มีอันดับที่ขยับขึ้นทั้งสิ้น จริงๆ แล้ว ฟิลิปปินส์คือประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันปรับปรุงยกระดับดีขึ้นมากที่สุด เมื่อมองกันโดยองค์รวมนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ไทยขยับขึ้น 6 ขั้น แต่ “ความไว้วางใจนักการเมือง” ติดอันดับโหล่ที่สุดในโลก
สำหรับไทยนั้น รายงานของดับเบิลยูอีเอฟ แจกแจงว่า ถึงแม้ประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างยาวนาน แต่ก็ยังสามารถพุ่งขึ้น 6 ขั้น จากอันดับ 37 ในปี 2013 มาอยู่ที่ 31 ในปีนี้ โดยเหตุผลสำคัญคือ ปัจจัยด้านภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งกระโจนพรวดขึ้นมา 12 ขั้นจนติดอันดับ 19 ในเวลานี้ ถือเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยทำได้ดีที่สุดในทั้ง 12 ปัจจัยที่เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณจัดทำตารางขีดความสามารถแข่งขันของประเทศทั่วโลก
โดยในปี 2013 นั้น ไทยสามารถทำงบประมาณแผ่นดินอยู่ในขั้นที่เกือบจะสมดุล และลดอัตราเงินเฟ้อลงมาเหลือ 2% ยอดหนี้สินสาธารณะก็ยังคงมีเสถียรภาพ ขณะที่อัตราการออมอยู่ในระดับสูง ไทยยังคงทำได้ดีในด้านการพัฒนาทางการเงิน (อยู่ในอันดับ 34) และยังปรับปรุงดีขึ้นอีกในปัจจัยด้านประสิทธิภาพทางการตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้จัดว่าเข้มแข็งอยู่แล้ว (อยู่ในอันดับ 30 ขยับขึ้น 4 ขั้น)
อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูอีเอฟซึ่งเชิดชูส่งเสริมทุนนิยมเสรี ระบุว่าไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการแข่งขันในตลาด โดยที่ยังคงมีกำแพงกีดกันจำนวนหนึ่งคอยขวางกั้นจนทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำแพงกีดกันที่กำลังส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
แต่นอกจากทางด้านปัจจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ไทยทำได้ค่อนข้างดีแล้ว รายงานของดับเบิลยูอีเอฟเตือนว่า ไทยยังคงเผชิญความท้าทายอันใหญ่โตในปัจจัยด้านอื่นๆ โดยสิ่งที่มหึมากว่าเพื่อนก็คือในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองการบริหาร
ทั้งนี้เรื่องความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและทางนโยบาย, ระเบียบราชการที่เข้มงวดเกินไป, การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง, ความน่าวิตกด้านความมั่นคง, และความไม่แน่นอนอย่างมากในเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สิน เหล่านี้เป็นตัวบ่อนทำลายกรอบโครงทางสถาบันอย่างร้ายแรง (ไทยอยู่ในอันดับ 93 ในปัจจัยย่อยเรื่องสถาบันภาครัฐ ลดลงมา 8 ขั้น) ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ อันดับของไทยอยู่ในอันดับใกล้ๆ 100 ทั้งสิ้น
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความไว้วางใจในนักการเมืองนั้น ปรากฏว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลกทีเดียว (อยู่อันดับ 129)” รายงานระบุ
ดับเบิลยูอีเอฟบอกในรายงานต่อไปว่า ปัญหาน่าห่วงเกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ เรื่องคุณภาพของการศึกษาซึ่งในทุกๆ ระดับ อยู่ในขั้นพื้นๆ ดาดๆ (อยู่ในอันดับ 87 ลดต่ำลง 9 ขั้น) และปัจจัยด้านความพร้อมทางเทคโนโลยีก็ยังคงต่ำ (อันดับ65) ถึงแม้ในด้านหลังนี้ไทยกำลังแสดงให้เห็นว่าปรับปรุงยกระดับดีขึ้นอย่างน่าเตะตาทีเดียว (ขึ้นจากปีก่อน 13 ขั้น)
รายงานนี้เตือนว่า ข้อมูลทั้งหลายที่ดับเบิลยูอีเอฟนำมาใช้ในการประเมินเกี่ยวกับประเทศไทยนั้น ได้รวบรวมขึ้นมาตั้งแต่ก่อนพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไทยในช่วงหลังๆ ซึ่งก็รวมทั้งการรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2014 ด้วย
Credit : ASTVผู้จัดการออนไลน์