(แฟ้มภาพ) คนงานชาวไนจีเรียอ่านใบปลิวให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ มูร์ตาลา มูฮัมหมัด ในเมืองลากอส ของไนจีเรีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.)
เอเอฟพี – องค์การชำนาญการด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติแถลงวานนี้ (14 ส.ค.) ว่า ระดับความรุนแรงของหายนะเชื้อไวรัส “อีโบลา” แพร่ระบาด ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก นั้นถูกประเมิน “ต่ำกว่าความเป็นจริง” โดยสิ้นเชิง และจำเป็นต้องดำเนิน “มาตรการพิเศษ” เพื่อควบคุมเชื้อมรณะชนิดนี้
ในเวลาที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการได้ไต่ขึ้นสู่ระดับ 1,069 ราย สหรัฐฯ ได้สั่งอพยพครอบครัวนักการทูตอเมริกันออกจากเซียร์ราลีโอน ประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดเช่นเดียวกับไลบีเรีย และกินี
องค์การอนามัยโลก ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในนครเจนีวา ระบุในคำแถลงว่า กำลังประสานงานเพื่อ “ขยายมาตรการจัดการสถานการณ์ระดับนานาชาติอย่างใหญ่โตมโหฬาร” เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้เป็นไข้เลือดออก ครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มีการค้นพบเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน
WHO ชี้ว่า “เจ้าหน้าที่ในพื้นที่แพร่ระบาดพบหลักฐานที่ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตตามที่ได้รับรายงานนั้นต่ำกว่าระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดในความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง”
องค์การนี้เตือนว่า “คาดการณ์กันว่า (อีโบลา) จะยังแพร่ระบาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดย WHO ได้ขยายแผนการปฏิบัติการรับมือการแพร่ระบาดให้ยาวนานออกไปอีกหลายเดือน”
ทางด้าน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์” ออกโรงเตือนว่า การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในเมืองลากอส ของไนจีเรีย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเป็นรายที่ 4 วานนี้ (14) อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สในไนจีเรีย หากบรรดาบริษัทข้ามชาติถูกบีบให้อพยพเจ้าหน้าที่ และสั่งปิดกิจการดำเนินกิจการในท้องถิ่น
แมตต์ โรบินสัน เจ้าหน้าที่เครดิตระดับอาวุโสของ มูดีส์ ชี้ว่า “การผลิตที่ลดลงจะส่งผลให้เศรษฐกิจและการคลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว”
(แฟ้มภาพ) คนงานลำเลียงเวชภัณฑ์ที่เตรียมไว้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโบลา ลงจากเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ โรเบิร์ตสฟีลด์ ในกรุงมันโรเวีย ประเทไลบีเรีย เมื่อวันจันทร์ (11 ส.ค.)
ในเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้เรียกร้อง ประธานาธิบดี เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ แห่งไลบีเรีย และ เออร์เนสต์ ไบ โคโรโม ผู้นำเซียร์ราลีโอน
ผู้นำสหรัฐฯ มีท่าทีเช่นนี้ ในเวลาที่กระทรวงการต่างประเทศวอชิงตันสั่งอพยพครอบครัวนักการทูตอเมริกันในเซียร์ราลีโอน เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสไวรัส
ทำเนียบขาวระบุในคำแถลงว่า “ระหว่างการสนทนากับผู้นำ (ชาติแฟริกาตะวันตก) ทั้งสอง ประธานาธิบดีโอบามาได้เน้นย้ำถึงข้อผูกมัด ในการทำภารกิจควบคุมการแพร่ระบาดร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ กับไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และพันธมิตรชาติอื่นๆ พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต”
ที่รัฐสภาเซียร์ราลีโอนวานนี้ (14) ดร.บรีมา คาร์กโบ หัวหน้าแพทย์ของประเทศได้กล่าวถึงความยากลำบาก ที่เหล่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเผชิญ ระหว่างต่อสู้กับการแพร่ระบาด
คาร์กโบ กล่าวว่า “เรายังต้องทำลายห่วงโซ่ของการแพร่เชื้อ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ”
ทั้งนี้ มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ต้องกลายเป็นเหยื่อของอีโบลาเสียเอง ในขณะที่เขากำลังพยายามช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อ
วานนี้ (14) เซียร์ราลีโอนเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม ถึง 13 สิงหาคมที่ผ่านมา มีพยาบาลเสียชีวิตจากอีโบลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว 32 ราย
กระทรวงสาธารณสุขเซียร์ราลีโอระบุว่า แอฟริกาใต้ได้อาสาช่วยเหลือประเทศนี้ ด้วยการส่งห้องแลบเคลื่อนที่ไปยังกรุงฟรีทาวน์ เพื่อให้เซียร์ราลีโอนไม่ต้องเสียเวลาส่งตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ที่อื่น
(แฟ้มภาพ) สตรีชาวไลบีเรียที่นับถือต่างลัทธิความเชื่อกันรวมตัวสวดภาวนาต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ที่กรุงมันโรเวีย ประเทศไลบีเรีย (2 ส.ค.)
แผนภาพแสดงบริเวณที่มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจากไวรัสอีโบลา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในเวลาที่ยอดผู้เสียชีวิตยังไม่ทะลุหลักพัน
Credit : ASTVผู้จัดการออนไลน์