คอลัมน์ รู้ทันโรค
ถ้าหากพูดถึงอวัยวะของคนเราที่มีขนาดเทียบเคียงกับกำปั้น แน่นอนเราต้องนึกถึง “หัวใจ” และเป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าอวัยวะนี้อยู่ในบริเวณส่วนกลางของหน้าอกเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีการหดและคลายตัวเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ตลอด 24 ชั่วโมง
แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้าหากวันใดวันหนึ่งการทำงานของหัวใจเกิดข้อผิดพลาดอย่างกระทันหัน หัวใจหยุดทำงานชั่วขณะ หรือเกิดการอุดตันในหลอดเลือด นี่คือเครื่องบ่งบอกท่านว่าเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายจากภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน และด้วยอาการเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจตามมาจำนวนมาก ทางทีมงาน Hospital Healthcare จึงนำสาระดีมีประโยชน์มาบอกเล่าต่อ เพื่อให้รู้ทันโรคยอดฮิตของกลุ่มโรคหัวใจมากขึ้น
หลอดเลือดหัวใจตีบ
โดยปกติแล้วผนังภายในหลอดเลือดหัวใจมีลักษณะเรียบเมื่อคนเรามีอายุที่มากขึ้น เนื้อเยื่อไขมันจะเริ่มเกาะและจับตัวกับพังผืดกันเป็นแผ่นนูน ทำให้ช่วงรูตรงกลางของหลอดเลือดมีขนาดลดน้อยลง ส่งผลให้โลหิตไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างเพียงพอ จึงเป็นที่มาของเกิดอาการแน่น เจ็บหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ เหนื่อย เหงื่อออก หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเวลาที่มีการออกกำลัง และถ้าปล่อยให้เส้นเลือดหัวใจตีบตลอดเวลานานเกินไปโดยที่ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน แม้จะมีอาการเตือนเพียงแค่ระยะสั้น แต่ก็สามารถทำให้เสียชีวิตทันทีทันใดได้ ดังนั้นผู้ป่วยด้วยโรคนี้จึงต้องได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดในตำแหน่งที่ตีบ หรือรักษาผ่าตัดโดยการนำเส้นเลือดที่บริเวณขาด้านในมาต่อใช้เข้ากับเส้นเลือดแดงใหญ่ เพื่อให้สามารถนำเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนในนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เหมาะสม อาทิ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินอาหารที่มีไขมันสูง อยู่ในภาวะตึงเครียด ขาดการออกกำลังกาย นอนหลับไม่เพียงพอ เป็นต้น ทั้งนี้ควรตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจอยู่สม่ำเสมอ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันก่อนเกิดโรคขึ้น
หัวใจขาดเลือด
ภาวะหัวใจขาดเลือด มีความสำคัญต่อเนื่องมาจากผลของการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน จากสาเหตุที่เกิดการอุดตันในหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง และเมื่อหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ เราจะรับรู้ได้ถึงสัญญาณเตือนที่ว่า เรามีความต้องการออกซิเจนมากขึ้นในช่วงเวลาที่เรารู้สึกเครียด หรือขณะที่ใช้กำลังในการทำกิจกรรม หรือหลังการทานมื้ออาหารหนักๆ ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวดบริเวณหน้าอก ไหล่ หลัง คอ หรือขากรรไกร เป็นครั้งคราว โดยอาการที่แสดงถึงโรคหัวใจขาดเลือดของแต่ละคนนั้นจะมีความแตกต่างกันไป แต่ถ้าเมื่อไรที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงติดต่อกัน 20 – 30 นาทีหรือมากกว่านั้น อย่ารอช้า ผู้ป่วยควรไปถึงมือหมอให้เร็วที่สุด เพราะถ้ารอช้าอาจจะทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ ส่วนการช่วยชีวิตเบื้องต้นนั้น แพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึก เพื่อรักษาความสมดุลของความต้องการออกซิเจนกับการได้รับออกซิเจน เพราะถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการหัวใจขาดเลือดอย่างได้ผล หากอาการไม่ทุเลาลงจำเป็นต้องมีการรักษาโดยทำบอลลูนขยายหลอดเลือดต่อไป
หัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะซึ่งหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดนำมาก่อนแล้วเกิดการคั่งของโลหิตในห้องหัวใจ ปอด หรือส่วนอื่นๆ ในร่างกาย เมื่อหัวใจห้องซ้ายล้มเหลว จะมีการคั่งของน้ำและเกลือที่ปอดทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าน้ำท่วมปอด และถ้าหัวใจห้องขวาล้มเหลวจะเกิดการคั่งของน้ำที่ขาทำให้เกิดการบวมของเท้า โดยอาการหัวใจวายอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน เช่น เกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจค่อยเป็นค่อยไป เช่น เกิดโรคของลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น การรักษามีทั้งการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อระบายสิ่งที่คั่งค้างออก สามารถทำให้อาการเหนื่อยดีขึ้น และตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อที่ทำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาได้ ถ้ารู้ทันภาวะดังกล่าว โดยการหมั่นสังเกตอาการเท้าบวมของตัวเอง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ใครเคยมีอาการเหล่านี้บ้าง วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย เจ็บแน่นหน้าอก คล้ายจะเป็นลมอยู่บ่อยครั้ง อาการเหล่านี้เป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยปกติแล้วหัวใจของคนเราเต้น 50-100 ครั้งต่อนาที ซึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจถูกกำหนดด้วยสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งมาจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวาส่งต่อไปยังห้องหัวใจที่เหลือเมื่อถึงหัวใจห้องล่างก็จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ในกรณีที่กลไกการเต้นของหัวใจที่ส่งสัญญาณผิดปกติ จะส่งผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไป โดยสาเหตุพบว่ามาจากปัจจัยภายนอก อาทิ การดื่มสุรา ดื่มกาแฟ รวมถึงมีภาวะเครียด และปัจจัยภายใน อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดหัวใจตีบ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการและตำแหน่งเพื่อรักษาผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยารับประทาน บางกรณีอาจต้องฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ และฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เพื่อทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติอีกครั้ง
สนับสนุนเนื้อหา
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.thinkstockphotos.com/