ผวา’กับดักแห่งความตาย’!!ญาติเหยื่ออีโบลาไลบีเรียเทศพผู้ติดเชื้อบนถนน

รอยเตอร์ – ญาติๆของเหยื่ออีโบลาในไลบีเรีย ขัดขืนคำสั่งกักกันของรัฐบาลและเทร่างไร้วิญญาณของผู้ติดเชื้อบนท้องถนน ขณะที่เหล่ารัฐบาลชาติแอฟริกาตะวันตกตะเกียกตะกายแสวงหาทางบังคับใช้มาตรการเข้มข้นจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 887 ศพ กระพือความกังวลว่ามันอาจลุกลามสู่ทวีปอื่นๆ ทำให้บริติช แอร์เวย์ส เป็นสายการบินล่าสุดที่ระงับเที่ยวบินมุ่งสู่เหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบแล้ว
ไนจีเรีย ซึ่งพบผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลารายแรกของประเทศในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นั่นก็คือนายแพทริค ซอว์เยอร์ พลเมืองชาวสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร(5) เจ้าหน้าที่ในเมืองลากอส เปิดเผยว่าพบชาวบ้าน 8 คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับชายคนดังกล่าว เริ่มแสดงอาการถึงการติดเชื้อมรณะนี้แล้ว

โรคระบาดนี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ตามแถบพื้นที่ป่าห่างไกลของกินี ชาติที่ยอดผู้เสียชีวิตกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนชาติเพื่อนบ้านอย่างเซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย ซึ่งตอนนี้การแพร่ระบาดลุกลามรวดเร็วที่สุด ทางการประกาศพื้นที่กักกันตามแนวชายแดนโดยมีทหารดูแล หลังร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ติดเชื้อล้วนถูกตรวจพบตามพื้นที่ชายแดน

ทั้งกินี เซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย ได้แถลงมาตรการเข้มข้นออกมาอย่างต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในความพยายามจำกัดการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นปิดโรงเรียนและกำหนดกักกันที่พักอาศัยของเหยื่อ ท่ามกลางความกังวลว่าไวรัสที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษานี้จะโจมตีระบบสาธารณสุขของหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในโลก

ในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากบาดแผลสงครามกลางเมืองช่วงปี 1989-2003 เหล่าญาติๆผู้เสียชีวิตจากพิษอีโบลา พากันลากศพเหยื่อขึ้นไปบนถนนดิน ดีกว่าจะเสี่ยงถูกกักกัน

ลูอิส บราวน์ รัฐมนตรีข้อมูลข่าวสารยอมรับว่าชาวบ้านบางคนอาจหวาดกลัวกับกฎระเบียบที่กำหนดให้ชำระล้างทำความสะอาดบ้านของเหยื่อ รวมถึงติดตามเพื่อนและญาติๆผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ด้วยในบรรดาผู้ติดเชื้อ มีไม่ถึงครึ่งที่รอดชีวิต ชาวแอฟริกาส่วนใหญ่จึงมองการโดดเดี่ยวกักกันโรคอีโบลา ว่าเป็นกับดักแห่งความตาย

“เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเคลื่อนย้ายศพออกจากบ้านและนำศพเหล่านั้นไปทิ้งไว้บนท้องถนน พวกเขากลัวที่จะเปิดเผยตนเองว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ” บราวน์บอกกับรอยเตอร์ “เราอยากร้องขอประชาชน กรุณาปล่อยศพไว้ในบ้านและเราจะเข้าไปเก็บกู้เอง”

557000009212101

รัฐมนตรีรายนี้เปิดเผยต่อว่าเจ้าหน้าที่ได้เริ่มเผยศพผู้ติดเชื้อในวันอาทิตย์(3) หลังจากชุมชนท้องถิ่นต่อต้านการฝังศพใกล้ๆย่านที่พักอาศัยของพวกเขา และในวันจันทร์(4) ได้มีการเผาศพเหยื่อเพิ่มเติมอีก 12 ราย ขณะเดียวกันในเมืองโลฟา ที่อยู่ตามแนวชายแดน ทหารได้เข้าประจำการในช่วงค่ำวันจันทร์ เพื่อเริ่มดำเนินการกักกันชุมชนที่ได้รับผลกระทบ “เราหวังว่าจะไม่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่เราจำเป็นต้องทำทุกวิธีทางที่สามารถจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ให้ออกนอกพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ”

ในส่วนความเคลื่อนไหวอื่ๆนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอเมริกันรายที่ 2 ซึ่งติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เดินทางกลับถึงสหรัฐฯแล้วในวันอังคาร(5) ในสภาพที่อาการสาหัส 3 วันหลังจากเพื่อนร่วมงานของเธอบินกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี ในแอตแลนตา ขณะที่ทางการวอชิงตันย้ำว่า การนำผู้ป่วยกลับมารักษาตัวไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสาธารณะ

ส่วนที่โรงพยาบาลนิวยอร์ก เผยว่าอีก 1 ถึง 2 วัน จะทราบผลว่าผู้ป่วยชายคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสอีโบลาหรือไม่ หลังจากที่ผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกาตะวันตก เข้ารับการรักษาเนื่องจากมีไข้สูงและมีอาการทางกระเพาะลำไส้ โดยโรงพยาบาลได้แยกรักษาเขาเป็นพิเศษเพื่อรอดูอาการ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็กำลังตรวจวินิจฉัยโรครายคนหนึ่งเช่นกัน ด้วยต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้ออีโบลา หลังเพิ่งเดินทางกลับจากไปทำธุรกิจในเซียร์ราลีโอนเมื่อเร็วๆนี้

มีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆต่อการแพร่ระบาดของอีโบลาในลากอส เมืองใหญ่ที่สุดของแอฟริกา โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เปิดเผยว่าพวกเขาได้กักตัวชาวบ้าน 14 คนที่สัมผัสโดยตรงกับนายซอว์เยอร์ หลังจากเขาเดินทางมาจากไลบีเรียด้วยเที่ยวบินระดับภูมิภาคของสายการบินเอสกาย ซึ่งนับตั้งแต่นั้นบริษัทแห่งนี้ก็ยกเลิกทุกเที่ยวบินที่มุ่งสู่ฟรีทาวน์และมอนโรเวีย

“ใน 14 คนที่มีการสัมผัสโดยตรงกับเหยื่อ มีอยู่ 8 รายที่มีอาการอย่างจริงจัง” ไจเด ไอดริส คณะกรรมาธิการสาธารณสุขลากอสกล่าว “อย่างไรก็ตามในบรรดาผู้ถูกกักตัว มีเพียงคนเดียวที่มีผลตรวจออกมาเป็นบวก และตอนนี้คุณหมอที่มีผลตรวจออกมาเป็นบวกรายนี้อยู่ในขั้นวิกฤต”

ด้วยที่ระบบสาธารณสุขของเหล่าชาติแอฟริกาตะวันตกกำลังถูกโจมตีด้วยโรคระบาด ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอริกาและธนาคารโลกจึงแถลงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเซียร์ราลีโอน ไลบีเรียและกินี รวม 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะนี้ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในมันโรเวีย ที่คลินิกด้านสุขภาพกลายสภาพเป็นอาคารร้าง เมื่อแพทย์และคนไข้ไม่ยอมออกจากบ้าน ด้วยหวาดกว่าว่าจะติดเชื้อโรคร้ายนี้

นอกจากนี้ด้วยความวิตกว่ามันอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆผ่านการสัญจรทางอากาศ ทำให้หลายชาติในยุโรปและเอชีย รวมถึงประเทศในแอฟริกาที่อยู่นอกโซนวิกฤตอีโบลา ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ขณะที่บรติช แอร์เวย์ส เผยเมื่อวันอังคาร(5) ระงับทุกเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนแล้ว

“เราจะงับเที่ยวบินทั้งขาไปและกลับจากไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2014 สืบเนื่องจากสถานการณ์สาธารณสุขที่เสื่อมทรามลงเรื่อยๆในทั้ง 2 ประเทศ” สายการบินแถลง “ความปลอดภัยของลูกค้า ลูกเรือและพนักงานภาคพื้น ต้องมาเป็นลำดับแรกเสมอ และเราจะทบทวนเส้นทางการบินเป็นระยะๆในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้านี้”

Credit : ASTVผู้จัดการออนไลน์

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *