“สารหนู” เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบของดิน หิน และแร่ต่างๆ มีรายงานการตรวจพบปริมาณสารหนูเกินเกณฑ์มาตราฐานบริเวณแหล่งน้ำใต้ดินในประเทศไทย การปนเปื้อนนั้นเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเกษตรกรรม และการทำเหมืองแร่ เมื่อมนุษย์ได้รับสารหนูปริมาณมากจะก่อให้เกิดอาการเฉียบพลัน เช่น ท้องเสีย อาเจียน มึนเมา ตาพร่ามัว เป็นต้น แต่หากได้รับปริมาณน้อยและมีระยะเวลานานจะก่อให้เกิดอาการพิษเรื้อรัง เช่น เกิดอาการที่ผิวหนัง เกิดโรคมะเร็ง และเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการจัดอันดับให้สารหนูเป็นสารอันตรายใน 10 อันดับแรก โดยกำหนดให้คุณภาพน้ำสำหรับการบริโภคไม่ควรมีสารหนูปนเปื้อนเกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ อาจารย์ ดร.พรินท์พิดา สนธิพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จาก มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ริเริ่มวิจัย “การศึกษาจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนรูปสารหนูในน้ำใต้ดินที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการบำบัดมลพิษด้วยวิธีทางชีวภาพ” โดยได้ทำการศึกษาบริเวณแอ่งน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ และได้รับผลกระทบจากการทำเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม จากการตรวจวัดปริมาณสารหนูในน้ำใต้ดินในเขตอำเภอเมือง พบว่าสารหนูในน้ำใต้ดินบางบ่อมีค่าเกินปริมาณมาตรฐานที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ
อาจารย์ ดร.พรินท์พิดา สนธิพันธ์ กล่าวว่า “สารหนูรูปแบบที่อยู่ในน้ำใต้ดินเป็นรูปแบบที่มีพิษมากที่สุด เรียกว่า “อาร์ซิไนต์” ซึ่งสามารถละลายในน้ำได้ดีและเคลื่อนที่ไปตามการไหลของน้ำใต้ดินทำให้เกิดการแพร่กระจายได้ในบริเวณกว้าง ซึ่งจากงานวิจัยเราจะใช้กลุ่มจุลินทรีย์เฉพาะเปลี่ยนให้สารหนูที่ละลายในน้ำได้ดีเป็นรูปแบบที่ละลายน้ำไม่ดี หรือ “อาร์ซิเนต” ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีพิษลดลง โดยจะจับอยู่กับประจุบนดินซึ่งสามารถลดการเคลื่อนที่และการปนเปื้อนของสารหนูได้ เป็นการบำบัดสารหนูโดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มจุลินทรีย์ท้องถิ่น โดยขณะนี้การศึกษาวิจัยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต่อไปจะมีการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดเพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นจุลินทรีย์พร้อมใช้ในอนาคต”
“งานวิจัยทางด้านจุลินทรีย์บำบัดสารหนูหรือเปลี่ยนรูปสารหนูในประเทศไทยมีการศึกษาน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่การสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากวิถีการเปลี่ยนรูปสารหนูโดยจุลินทรีย์นั้นค่อนข้างซับซ้อน จึงต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดสารหนูทางชีวภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยของเราจะทำการศึกษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่งานวิจัยขั้นพื้นฐานจนถึงการนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อน ซึ่งนอกจากการแก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยเพื่อบำบัดสารพิษอื่นๆ ที่เป็นปัญหาได้ด้วย จากปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันทำให้เกิดการสะสมของสารพิษ รวมทั้งพบสารพิษใหม่ๆ มากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ซึ่งการบำบัดสารพิษโดยชีววิธีนับเป็นวิธีทางเลือกที่มีศักยภาพที่จะนำไปใช้บำบัดสารพิษเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยต้องเริ่มจากการทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และแนวทางการนำไปใช้” อาจารย์ ดร.พรินท์พิดา สนธิพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย