ศาลปกครองพิพากษาคดีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด

ศาลปกครองนัดฟังคำพิพากษา คดีชาวบ้านมาบตาพุด ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขอให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ หลังจากผ่านมาถึง 8 ปี ล่าสุด ศาลปกครองจำหน่ายคดีเพราะมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตามคำพิพากษาแล้ว ขณะที่ชาวบ้านยังเตรียมขับเคลื่อนต่อเนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบ

วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 09.30 น. ณ ศาลปกครองระยอง ห้องพิจารณาคดี 2 ได้มีการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.326/2552ในชั้นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ระหว่างนายเจริญ เดชคุ้ม ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดย เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตัวแทนประชาชนชาวมาบตาพุดจาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมรวม 27 คน โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW) จึงตัดสินใจยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองระยองกรณีละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม และขจัดมลพิษ และขอให้พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ศาลจึงมีคำพิพากษา ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่อำเภอบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 นายกรัฐมาตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในขณะนั้น ก็ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ

นายน้อย ใจตั้ง อายุ 77 ปี ชาวบ้านมาบตาพุด บอกว่า เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม มีแต่แย่กว่าเดิม ทุกวันนี้ ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ดั้งเดิม ถูกเบียดเบียนทั้ง การเป็นอยู่ การทำมาหากินของพืชผลการเกษตร พืชผลผลิตต่างๆเมื่อถูกฝน ก็เน่า เสียหาย หมด แต่คนที่เขามาทำมาหากิน พอเจ็บป่วยเขาก็กลับบ้านเขา แต่บางคนกลับไปแล้วก็ไปตาย แล้วคนที่อยู่ก็ต้องรับกรรม มลพิษทั้งหลายชาวบ้านต้องรับทุกอย่าง เท่ากับการที่มีประกาศ ออกมา ไม่มีอะไรคืบหน้า มลพิษไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ความเจ็บป่วยมันก็มา เห็นจากคนที่ร้อง 27 คน ได้ตายจากไปแล้วกี่คน ตอนนี้เหลือประมาณ 17 คน ถึงฟ้องชนะ แต่ว่าทางโรงงานเขาไม่ได้ทำอะไรเลย เท่ากับการประกาศไม่ได้มีผลอะไรดีขึ้นมาเลย เราไม่ได้รังเกียจอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมที่มีมลพิษ ควรจะลดลงบ้าง หรือว่าควรจะปรับปรุง อุตสาหกรรมอยู่ได้ก็ต้องประชาชนอยู่ได้ นี่อุตสาหกรรมอยู่ได้ ประชาชนต้องล้มลุกคลุกคลาน ลุงว่ามันไม่ถูกต้องเลย แล้วก็ไม่ยุติธรรม

 

ด้านนางอารมณ์ สดมณี อายุ 53 ปี บอกว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือเมื่อก่อนนี้เรา ต้องการให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพราะฉะนั้น พอหลังจากประกาศมา สิ่งที่ประชาชนได้รับ ก็ไม่ได้ดีขึ้น ก็คือน้ำใต้ดินก็ยังใช้ไม่ได้ แล้วลักษณะอย่างนี้ คือประชาชนที่เราดำเนินชีวิตอยู่รอบอุตสาหกรรม คือเราต้องการให้ประชาชนอยู่กับอุตสาหกรรมได้ และอุตสาหกรรมอยู่กับประชาชนได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ก็คือให้ภาคอุตสาหกรรมปฏิบัติตามคำสั่งศาล ที่ศาลปกครองสูงสุดประกาศให้พวกเรา ประชาชนชนะคดี เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ถามว่าน้ำบ่อทานได้ไหม ทานไม่ได้ และใช้ก็คือใช้ไม่ได้ ต้องใช้น้ำประปา แล้วถ้าจะใช้ บริโภค อุปโภค ก็คือต้องซื้อน้ำถัง น้ำถัง ก็ 15 บาท แล้วประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าจะมีผลกระทบต่อน้ำอย่างเดียว พวกอากาศก็ยังมีผลกระทบ สิ่งที่ประชาชน ต้องการคือ ต้องการให้ทางภาคอุตสาหกรรมปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด อย่างที่ศาลปกครองประกาศให้พวกเราชนะ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าในวันนี้ มีนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มาให้ความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้าน ที่มาฟังคำพิพากษา จำนวนกว่า 10 คน ซึ่งหลังจากศาลปกครองระยอง ออกคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากระบบ เพราะได้มีการประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตามคำร้องแล้ว แต่เมื่อ ชาวบ้านยังยืนยันว่า ปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ลดน้อยลง กลุ่มชาวบ้านก็ยังต้องขับเคลื่อนกันต่อไปโดยจะเข้าพูดคุยกับองค์กรต่างๆเพื่อหาแนวทางดำเนินการให้เกิดการแก้ปัญหาต่อไป…0000000

 

อัจฉรา วิเศษศรี จ.ระยอง

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *