ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกยุค 4.0
ใครทำอะไรแบบเก่าๆ จะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง
เปิดรับโลกไซเบอร์ มุ่งเจาะเจนวาย
พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ แตกต่างกับคนรุ่นเก่า
จับตลาดกลุ่มคนอายุน้อย ทำให้สินค้ามีอายุยาว
.
ประสบการณ์ตรงของผมที่ได้ทำงานทางด้านวิจัยตลาดและพัฒนาธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน พบว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกิจอยู่รอดและก้าวหน้า หรือเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ผู้นำตลาดสามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดไว้ได้ต่อไป
.
ผมเคยทำงานวิจัยตลาดให้สินค้าและบริการหลายรายที่เป็นผู้นำตลาดในอดีต บางรายยังคงเป็นผู้นำตลาดอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีอีกหลายรายที่ไม่สามารถรักษาต่ำเหน่งไว้ได้ และแย่ที่สุดคืออยู่ไม่รอด
.
สาเหตุความล้มเหลวที่พบบ่อยและเห็นชัดที่สุด คือ การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ครั้นเมื่อเดินตามทางเดิมไม่ได้จริงๆ และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง หลายๆครั้งก็สายเกินไป เปลี่ยนไม่ทัน และเฉาตายไป
.
พฤติกรรมผู้บริโภค หรือความชอบของคนในแต่ละรุ่นและแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกัน อย่างผู้ชายรุ่นผมซึ่งเป็นพวกเจนบี หรือเบบี้บูมเมอร์ นิยมเสื้อผ้าใส่ทำงานของแอโร่ เสื้อโปโลที่เท่ห์สุดคือ แกรนด์สแลมที่มีตรานกเพนกวิ้น กางเกงยีนส์ต้องแรงเรอร์หรือลี ถ่ายภาพด้วยกล้องและฟิล์มโกดัก คอมพิวเตอร์นิยมไอบีเอ็ม เครื่องเสียงฟังของโซนี่ ฯลฯ น่าเสียดายที่แบรนด์ดังหลายแบรนด์ในอดีตไม่สามารถครองใจคนยุคใหม่เหมือนที่เคยครองใจคนยุคเก่า
.
แต่ก็มีสินค้าแบรนด์ดังจำนวนมากที่หมุนตัวเองให้ทันไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในทุกช่วงเวลา มีการทำตลาดที่เน้นคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น โค้ก เป๊ปซี่ ไนกี้ เนสกาแฟ ซันซิลค์ ลักส์ ฯลฯ
.
การเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้หลายๆธุรกิจในประเทศไทยทั้งที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
.
อุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เน้นเรื่องแรงงานเป็นส่วนสำคัญ เดินหน้าต่อไปได้ลำบาก โรงงานทำรองเท้ากีฬาในไทยที่เมื่อก่อนเคยรับจ้างผลิตให้แบรนด์ดังของโลกก็แทบไม่มีเหลือให้เห็นในปัจจุบันแล้ว โรงงานเย็บกางเกงยีนส์ที่ยังเปิดอยู่ในไทยตอนนี้นับแห่งได้เลย ค่าแรงขั้นต่ำในไทยวันละ 300 บาท ทำให้เราหมดสภาพการแข่งขันในบางอุตสาหกรรม ประเทศเพื่อนบ้านมีค่าแรงต่ำกว่าไทยมาก เช่น อินโดนีเซีย 230 บาท พม่า 110 บาท เวียดนาม 95 บาท ลาว 80 บาท กัมพูชา 75 บาท
.
ความจริงแล้ว ภาครัฐของหลายๆรัฐบาลในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไขอยู่ตลอดเวลา อย่างรัฐบาล คสช ในปัจจุบันก็กำลังผลักดันให้เป็นยุคของประเทศไทย 4.0 พยายามให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เน้นภาคบริการมากขึ้น
.
ประเทศไทย 4.0 มีเป้าหมายเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี และเป็นเกษตรกรแบบที่มีลักษณะเดียวกับผู้ประกอบการ
.
เอสเอ็มอีในยุคประเทศไทย 4.0 ต้องเป็นเอสเอ็มอีแบบสตาร์ตอัพที่โตเร็วและโตได้ไม่จำกัด งานบริการมูลค่าต่ำต้องเปลี่ยนเป็นงานที่สร้างมูลค่าสูง แรงงานทักษะต่ำต้องเปลี่ยนให้เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง
.
ช่วงนี้เป็นยุคเริ่มต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นยุคที่กระแสการเปลี่ยนแปลงกำลังมีขึ้นอย่างพลิกโฉม และจะทำให้ใครที่ยังทำอะไรแบบเก่าๆ ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง
.
วันนี้เป็นยุคดิจิตอลและอินเตอร์เน็ต ทั่วโลกมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 3,400 ล้านคน หรือคิดเป็นตัวเลข 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก คนไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกเชื่อมโยงอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต คนไทยใช้มือถือมากกว่าหนึ่งเลขหมายต่อคน ใช้เวลาอยู่กับโลกไซเบอร์มากกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน
.
พวกเราทุกคน อยากให้ลองมองย้อนหลังพฤติกรรมของตัวเองไปซักสิบปี แล้วเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมายอย่างเหลือเชื่อ
.
คนยุคนี้ดูทีวีน้อยลง แต่ได้รับข่าวสารรวดเร็วแบบเรียบไทม์ในโลกอินเตอร์เน็ต มีข้อมูลช่วยให้การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆมากมาย ช่วยทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองมีมากกว่าอยู่ในชนบท เลือกพักอาศัยอยู่ในคอนโดมากขึ้น
.
การเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คน เป็นผลทำให้วิธีการทำธุรกิจในยุคนี้ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
.
ร้านค้ายุคเก่าที่มีหลักแหล่งชัดเจนให้ลูกค้าไปหาได้ วันนี้ต้องมีร้านค้าแบบดิจิตอลให้กลุ่มเป้าหมายไปศึกษาข้อมูลหรือเลือกซื้อด้วย ซื้อขายกันผ่านทางออนไลน์ได้
.
การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เมื่อก่อนทำกันบนสื่อหลักผ่านทาง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร บิลบอร์ด วันนี้ต้องให้ความสำคัญกับ เฟซบุ๊ค ไลน์ ยูทูป เว็บไซท์ ต้องเน้นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มมุ่งหวังที่ทุกวันนี้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
.
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มมุ่งหวังการตลาดที่ทุกสินค้าทุกบริการต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในยุคนี้ คือ เจนวาย เป็นคนที่เกิดในช่วงปี 2525 – 2548 เป็นคนที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี
.
ช่วงปลายปี 2559 ม.มหิดล ได้รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทยในต่างเจนเนอร์ชั่นไว้น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนในเจนวาย ที่มีประชากรมากถึง 22 ล้านคนของไทย พอสรุปเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ได้ว่า มีความเป็นอิสระ มีการศึกษา เปลี่ยนงานบ่อย ใช้ชีวิตอยู่คอนโดหรือหอพัก นิยมทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จ แต่งงานช้า ไม่ค่อยอยากมีบุตร สามารถพึ่งพิงตัวเองได้มากขึ้น และเติบโตมาในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม มีความรับรู้ในพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการสื่อสารสูง ซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน เจนวายในไทยยังห่วงสุขภาพไม่มากนัก ในขณะที่เจนวายในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมาก
.
ในภาคปฏิบัติของการวิจัยตลาดที่มีการทำกันส่วนใหญ่ในทุกยุคทุกสมัย เขาจะทำการศึกษาเน้นไปที่คนอายุต่ำกว่า 35 ปีเป็นหลัก เพราะการทุ่มงบการตลาดกับคนที่มีอายุน้อย หมายถึงการเข้าถึงคนกลุ่มที่ยังอยู่ในสังคมอีกนาน นั่นหมายถึงการเข้าถึงผู้บริโภคในระยะยาว ถ้าวันนี้เขาชอบใช้สินค้าของเรา ในวันข้างหน้าก็ยังมีโอกาสที่จะชอบสินค้าแบรนด์เดิมที่เคยชอบอยู่ค่อนข้างสูง
.
ผู้บริหารองค์กรทั้งใหญ่และเล็กในยุคนี้ ควรเป็นคนที่เข้าใจโลกสมัยใหม่ของยุค 4.0 ต้องมองให้ออกว่าโลกกำลังหันไปในทิศทางไหน จะได้ตั้งรับหรือเดินหน้าไปถูกทาง
.
สำหรับผู้บริหารที่อายุประมาณสี่สิบปีและอยู่แนวหน้าในการขับเคลื่อนธุรกิจ น่าจะมีความเหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำองค์กรที่เน้นงานด้านปฏิบัติ เพราะไม่มีช่องว่างระหว่างวัยที่ไกลกันเกินไปจากกลุ่มเป้าหมายสำคัญ และตัวผู้บริหารยังมีเวลาทำงานและติดตามผลงานไปอีกร่วมยี่สิบปีก่อนเกษียณ…….
สุทธิชัย ทักษนันต์