อบต.แกลง ทำบุญกองทราย อายุกว่า 200ปี สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองจันทบูร
ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแกลง อ.เมือง จ.ระยอง ได้จัดทำบุญวันไหลงานสงกรานต์ ตามประเพณีที่ทำติดต่อกันมายาวนาน อันเนื่องมาจากพื้นที่บริเวณนี้มีกองพระทรายอายุมากกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินยกทัพไปตีเมืองจันทบูร ซึ่ง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลแกลง
นายสุริช วงษ์เสงียม ปลัดสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลแกลง พร้อม สมาชิก อบต. พนักงาน ประชาชนชาวบ้าน ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ได้ร่วมกันทำบุญ ตักบาตรอาหารหวานคาว ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ วัดตะเตียนทอง ยังบริเวณหน้าองค์การส่วนบริหารตำบลแกลง วันไหลสงกรานต์ ตามประเพณี ถวายกองพระทราย เพื่ออุทิศให้แก่ญาติพี่น้อง บรรพบุรุษที่ลวงลับ คาดว่าใต้กองพระทรายอาจมีของสำคัญสมัยเก่าฝังอยู่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีคนพบดาบสมัยพระเจ้าตาก 1เล่ม ขณะนี้ได้เก็บรักษาไว้ยังวัดตะเคียนทอง
ประวัติกองพระทราย
จากคำบอกเล่าของ พระครูบูรพาวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดตะเคียนทอง และผู้สูงอายุอำเภอแกลง ได้กล่าวว่าแต่เดิมบริเวณกอพระทรายเป็นสถานที่พักของทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงยกทัพเดินทางผ่านมาและตั้งพลับพลาประทับค้างแรมที่บริเวณแห่งนี้ และใช้บริเวณสถานีไฟฟ้าเพในปัจจุบันเป็นที่ล่ามช้าง ล่ามม้าศึก และก่อนเดินทางเคลื่อนทัพไปตีเมืองจันทบุรีก็ได้ให้ทหารฝังสิ่งของเครื่องใช้บริเวณกองพระทรายก่อนออกเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลประวัติศาสตร์(อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์) ที่เขียนไว้ในหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ความว่า “พระยาวชิรปราการ(สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)ได้พาเหลาทหารเอกพร้อมสมัคพรรคพวกประมาน500นาย ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าออกจากค่ายวัดพิชัยมุ่งหน้าไปทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออกผ่านบ้านนาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ประทับค้างแรม1คืน แล้วเดินทัพตามชายทะเลไปถึงบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง เมื่อถึงเมืองระยอง ผู้รั้งเมืองระยองและกรรมการทั้งปวงชวนกันมาต้อนรับ ถวายธัญญาหารเกวียนหนึ่งและเสด็จประทับค้างแรมที่วัดลุ่มเป็นเวลา 2 วัน เพื่อรวบรวมกำลังไพร่พลแล้วเคลื่อนทัพมุ่งหน้าไปตีเมืองจันทบุรี”(กรมแผนที่ทหาร)”โดยเคลื่อนทัพผ่านมาทางเจ็ดลูกเนิน บ้านตะพงนอก บ้านช้างช่น บ้านในไร่ บ้านเพ หัวแหลมแกลง บ้านแกลงหรือตำบลแกลงในปัจจุบัน”
ในเวลาต่อมาชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนอยู่บริเวณใกล้กองพระทราย ก็ได้ขนทรายมารวมกัน จัดทำเป็นเจดีย์ทรายและจัดตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ ธงทิวและวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ให้มีความสวยงาม เนื่องในประเพณีทำบุญวันไหลวันสงกรานต์ และนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการละเล่นต่างๆและการกล่าวคำถวายกองพระทราย การทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้อง บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีการทำบุญวันไหลวันสงกรานต์ได้มีการจัดทำสืบทอดต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไปมากกว่าร้อยปี กองพระทรายแห่งนี้จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โดยมีความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตย์อยู่ ณ กองพระทรายแห่งนี้ ปัจจุบันใช้เป็นสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลแกลง และในปี พ.ศ. 2544 องค์การบริหารส่วนตำบลแกลง ได้สร้างกำแพงรอบกองพระทราย จนสภาพดังเช่นปัจจุบัน
ภาพ/ข่าว นพดล แสงวิไล/อัจฉรา วิเศษศรี