(ภาพ: AFP)
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ เผยแพร่รายงานหัวข้อ “ถ้าเราไม่รีบทำตอนนี้” –Unless We Act Now เนื้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ระบุถึงเด็กๆชาวโลกมากเกือบ 690 ล้านคน จากทั้งหมดราว 2,300 ล้านคน กำลังเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบโลกร้อน ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย รวมถึงปัญหาความยากจนและโรคระบาด
ทั้งนี้ เด็กๆชาวโลกมากเกือบ 530 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงเผชิญปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วมรุนแรงและเผชิญพายุรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่แถบทวีปเอเชีย ขณะที่เด็กๆชาวโลกอีกมากราว 160 ล้านคน เผชิญความแห้งแล้งรุนแรงในถิ่นอาศัยแถบทวีปแอฟริกาขณะที่ผลกระทบจากโลกร้อนจะทำให้พื้นที่แถบชายฝั่งทะเลของชาติแถบเอเชียใต้ ละตินอเมริกา แถบทะเลแคริบเบียนและหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก อาจจมทะเลได้ในอนาคตอันใกล้
ปัญหาน่ากลัวที่กำลังก่อผลกระทบอันเกิดจากสภาพอากาศโลกร้อนขึ้นคือโรคระบาด ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพอากาศเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น ส่งผลถึงการเกิดโรครุนแรง ตั้งแต่ไข้มาลาเรีย ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค โรคปอดบวม โรคท้องร่วง และโรคเกี่ยวข้องกับการขาดภาวะโภชนาการที่ดี สภาพอากาศคลื่นความร้อนจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก ขณะที่เด็กๆยังจำเป็นต้องไปโรงเรียนและรับการดูแลสุขภาวะที่ดี เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย
องค์การยูนิเซฟ นำรายงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ในช่วงเวลาใกล้การประชุมใหญ่ว่าด้วยความเปลี่ยน แปลงของชั้นบรรยากาศโลกแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดประชุมในฝรั่งเศสตั้งแต่ 30 พ.ย.นี้ ถึง 11 ธ.ค. โดยจะมีผู้แทนระดับผู้นำโลกร่วมการประชุมจากกว่า 135 ประเทศและดินแดน รวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของการประชุมครั้งนี้ คือผลักดันให้เกิดข้อตกลงทั่วโลกขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังทั่วถึง
จากข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า จีนปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกเฉลี่ยมากอันดับ 1 ของโลก ตามด้วยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 28 ประเทศ ส่วนค่าเฉลี่ยต่อประชากรหนึ่งคนที่ปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดของโลก คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามด้วยสหรัฐฯ สาธารณรัฐเช็ก และรัสเซีย.
Credit : http://www.thairath.co.th/