นายกฯ โครเอเชียเผยว่า พวกเขาจะบีบให้ประเทศฮังการียอมรับผู้อพยพเข้าประเทศ ด้วยการส่งผู้อพยพไปยังชายแดนอย่างต่อเนื่อง หลังผู้อพยพจำนวนมากแห่เดินทางเข้าโครเอเชีย หลังฮังการีปิดชายแดน…
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการโครเอเชียกำลังประสบปัญหาในการรับมือผู้อพยพ หลังจากประเทศฮังการีสร้างรั้วลวดหนามและปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเซอร์เบีย ส่งผลให้โครเอเชียกลายเป็นทางผ่านใหม่ของเหล่าผู้อพยพที่ต้องการเดินทางเข้ายุโรปตะวันออก โดยมีผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาถึง 20,000 คน นับตั้งแต่วันพุธที่ 16 ก.ย.
โซรัน มิลาโนวิช นายกรัฐมนตรีโครเอเชีย (ภาพ: AFP)
ล่าสุดโครเอเชียซึ่งต้อนรับผู้อพยพด้วยดีในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ดำเนินการปิดทางข้ามพรมแดนเกือบทุกจุด โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า จำนวนผู้อพยพมากเกินไป ขณะที่ นายโซรัน มิลาโนวิช นายกรัฐมนตรีโครเอเชีย แถลงเมื่อวันศุกร์ ว่าโครเอเชียจะบีบให้ประเทศฮังการียอมรับผู้อพยพเข้าประเทศ ด้วยการส่งผู้อพยพไปยังชายแดนอย่างต่อเนื่อง
“เราไม่มีข้อตกลงกับฮังการี แต่เราจะบีบบังคับพวกเขา ด้วยการส่งผู้อพยพไปที่นั่น และเราจะส่งไปเรื่อยๆ ผู้อพยพต้องการออกจากโครเอเชีย ดังนั้นนี่จึงเป็นหนทางเดียวสำหรับเรา เพื่อปล่อยให้พวกเขาผ่านไปด้วยวิธีที่มีอารยธรรม” นายมิลาโนวิชกล่าวที่เมือง เบลี มานาสเตียร์ โดยเขายังกล่าวโทษประเทศกรีซและตุรกีด้วยว่า ล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้ผู้อพยพเดินทางข้ามทะเลเข้าสู่ยุโรป
ผู้อพยพรอรถไฟที่เมือง โทวาร์นิค ของโครเอเชีย (ภาพ: AP)
ขณะเดียวกัน นาย ปีเตอร์ ซิจจาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการี ออกมาแถลงการณ์โจมตีโครเอเชียในวันเสาร์ว่า “แทนที่จะจัดหาเสบียงอาหารให้กับผู้อพยพอย่างจริงใจโครเอเชียกลับส่งพวกเขาตรงไปยังฮังการี นี่เป็นความสามัคคีในยุโรปประเภทใดกัน?” ส่วนนายโซลตัน โควักส์ โฆษกรัฐบาลฮังการี กล่าวหาโครเอเชียว่า จงใจมีส่วนร่วมในการลักลอบขนย้ายมนุษย์
ทั้งนี้ ผู้อพยพส่วนใหญ่หลบหนีความยากจนและความรุนแรงมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ต้องการเดินทางผ่านฮังการีและสโลวีเนีย ซึ่งเป็นเขตไร้พรมแดนตามข้อตกลงเชงเก้นของสหภาพยุโรป เพื่อไปยังประเทศทางตอนเหนือของยุโรปเช่นเยอรมนี จนกระทั่งฮังการีและสโลวีเนียปิดพรมแดนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และใช้มาตรการแข็งกร้าวรับมือกับผู้อพยพ
ผู้อพยพรอขึ้นรถบัสบริเวณชายแดนออสเตรีย ติดกับฮังการี (ภาพ: AP)
ในวันอังคารที่ 22 ก.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหภาพยุโรปเตรียมจัดการประชุมฉุกเฉิน เพื่อพยายามหาข้อตกลงเรื่องมาตรการกระจายผู้อพยพไปยังชาติสมาชิกอียูตามโควตา จากนั้นในวันพุธ ผู้นำอียูจะจัดการประชุมสุดยอด เพื่อหารือเรื่องวิกฤติผู้อพยพ
Credit : http://www.thairath.co.th/