การเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับสิ่งมีชีวิตฉันใด การดูแลรักษาย่อมเป็นเรื่องคู่กันฉันนั้น หนักนิดเบาหน่อยไม่ควรถอดใจ ป่วยได้แต่อย่าท้อ…ว่าอย่างนั้นเถอะ
ฉะนั้นเมื่อน้องหมาในครอบครัวของคุณเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล สิ่งที่คุณจะต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการดูแลประคบประหงมอย่างถูกวิธี คอลัมน์ Holistic Health Series ในฉบับนี้จึงขอเรียบเรียงวิธีการปฐมพยาบาลเจ้าตูบป่วยอย่างถูกวิธีมาเสนอ เพื่อเป็นคู่มือประจำบ้านที่จะช่วยให้ตูบของคุณอายุยืนยาว
การพยาบาล…คืออะไร
หากจะทำความเข้าใจง่ายว่าการพยาบาลคืออะไร เราขอแนะนำให้คุณคิดถึงนางพยาบาลที่คอยดูแลคนเจ็บป่วย การเอาใจใส่จัดตารางยา ทำความสะอาดร่างกาย ดูแลสภาพแวดล้อมของสถานที่พักฟื้น ฯลฯ นี่แหละคือการพยาบาล ซึ่งหากทำหน้าที่ได้ดี ผลย่อมปรากฏอย่างชัดเจนว่าคนไข้จะฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็ววัน
การพยาบาลนั้นมีหลายระดับ ซึ่งแต่ละระดับย่อมมีความเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไป ในโรงพยาบาล ตูบน้อยของคุณจะได้รับการดูแลอย่างรอบด้านโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศภายในห้องพักที่เหมาะสม ที่นอนที่เหมาะสมกับโรคภัยที่กำลังเผชิญอยู่ การพยาบาลในระดับนี้ ยากที่การพยาบาลตามบ้านจะทำได้ดีเท่า
อย่างไรก็ตามเราไม่ได้หมายความว่าการพยาบาลที่ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำนั้นจะไม่ดี อย่าลืมสิว่าสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลนั้นย่อมไม่ดีเท่าบ้านพักที่เจ้าตูบเติบโตมา ด้วยเหตุนี้เองคุณคือพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับเขา
ป่วยแบบไหนต้องการพยาบาล
หากการเจ็บป่วยของเจ้าตูบของคุณเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดล่ะก็ หลังจากพักฟื้นที่โรงพยาบาลสักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อเขากลับมาบ้าน คุณจะต้องรับหน้าที่ในการดูแลจนกว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ว่ากันว่าเคล็ดลับที่จะทำให้เขาแข็งแรงอย่างรวดเร็วนั้นอยู่ที่การดูแลอย่างเอาใจใส่ด้วยความรักของคุณและทุกคนในครอบครัวนั่นเอง
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเจ้าตูบที่นอนอยู่กับบ้านโดยไม่ได้เข้าโรงพยาบาลไม่ต้องการพยาบาลนะจ๊ะ อย่ามองข้ามสมาชิกเก่าแก่ที่อายุมากจนเดินไปมาลำบากอย่างเด็ดขาด พวกเขาก็ต้องการพยาบาลเหมือนกัน…อย่าลืมเป็นอันขาดเชียวนะ
วิธีพยาบาลที่ถูกวิธี
ในเมื่อการพยาบาลเป็นการพักฟื้นที่บ้านหลังจากออกมาจากการดูแลของสัตวแพทย์ สิ่งที่คุณจะต้องเริ่มทำเป็นอย่างแรกก็คือจัดตารางการพยาบาลเจ้าตูบให้เหมือนและเทียบเท่าในโรงพยาบาลมากที่สุด ปรึกษาสัตวแพทย์เจ้าของไข้เลยว่ามีสิ่งไหนที่ต้องดูแลระมัดระวังเป็นพิเศษ จดบันทึกมาให้ละเอียดเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง วางแผนตระเตรียมให้พร้อมก่อนเจ้าตูบจะออกจากโรงพยาบาลได้ยิ่งดีใหญ่
ตัวอย่างตารางการพยาบาล
7.00 น. พาออกไปขับถ่าย สังเกตอุจจาระและปัสสาวะ
7.30 น. ให้ยามื้อเช้า (ถ้ามี)
8.00 น. ให้อาหารเช้า สังเกตปริมาณที่กินและน้ำที่ดื่ม
8.30 น. หากมีแผลต้องทำแผล ล้างแผลตามที่แพทย์สั่ง
ทำกายภาพบำบัด
9.00-11.00 น. ปล่อยให้เจ้าตูบได้พักผ่อน สังเกตความเป็นไปตลอดเวลา หากพบเรื่องผิดปกติให้สอบถามสัตวแพทย์ในทันที
11.00 น. พาออกไปขับถ่าย สังเกตการเปลี่ยนแปลง
11.30-15.30 น. ปล่อยให้เจ้าตูบได้พักผ่อน สังเกตความเป็นไปตลอดเวลา
15.30-16.30 น. ให้ยา (ถ้ามี) พาออกไปขับถ่าย
17.30 น. ให้อาหารเย็น สังเกตปริมาณที่กินและน้ำที่ดื่ม
18.00-22.00 น. ปล่อยให้เจ้าตูบได้พักผ่อน สังเกตความเป็นไปตลอดเวลา
22.00 น. พาออกไปขับถ่าย สังเกตการเปลี่ยนแปลง
23.30 น. ให้ยา (ถ้ามี)
ตารางที่เราเสนอไปนั้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมและสภาพอาการของเจ้าตูบของคุณ หลายท่านอาจคิดไปว่าการพยาบาลตามบ้านนั้นยุ่งยากเกินความสามารถของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้หรือเปล่า ขอตอบว่าไม่ค่ะ เพราะการดูแลนั้นหากปฏิบัติด้วยความใส่ใจล่ะก็…เจ้าตูบจะสามารถแข็งแรงได้เร็วกว่าการรักษาตามโรงพยาบาลเสียอีก
สำหรับท่านที่ไม่มีเวลาดูแลเจ้าตูบตัวน้อยเพราะต้องทำงานล่ะก็ เราขอแนะนำให้หาผู้ช่วยในการดูแลที่ไว้ใจได้มาช่วยในช่วงเวลาที่คุณไปทำงาน อาจจะเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อกับเจ้าตูบของคุณก็ได้ เพื่อการพยาบาลที่ต่อเนื่องอย่างไรล่ะ
ทั้งนี้หากคุณไม่มีเวลาดูแลและไม่สามารถหาใครที่ไว้ใจได้มาช่วยล่ะก็… เราขอเสนอให้พาเจ้าตูบไปฝากโรงพยาบาลสัตว์เพื่อช่วยในการพยาบาลดีกว่า เพราะหากรับเขามาแล้วไม่มีเวลาให้ล่ะก็ เจ้าตูบคงหายป่วยช้ากว่าเดิมอย่างแน่นอน
ช่วงอายุของเจ้าตูบและการพยาบาลที่แตกต่าง
1.เจ้าตูบแรกเกิด (แรกเกิด – 6 สัปดาห์)
การพยาบาลเจ้าตูบในช่วงวัยนี้ต้องอาศัยความระมัดระวังและความใส่ใจมากกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่สามารถทานอาหารได้ด้วยตัวเอง คุณจะต้องเป็นผู้กระตุ้นและป้อนอาหารที่เหมาะสมให้กับเขา นอกเหนือไปจากการป้อนอาหารแล้ว สภาพแวดล้อมที่หลับนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณจะต้องคอยดูแลให้ที่นอนของเขาอบอุ่นอยู่เสมออย่าปล่อยให้เย็นจนก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนถามหา อาทิเช่น โรคหวัด โรคปอด เป็นต้น
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเจ้าตูบในช่วงวัยนี้ก็คือ กระบอกสำหรับป้อนนม (หาซื้อได้ตามเพ็ทช็อปทั่วไป) คอตตอนบัดด์ ผ้าขนหนู ฯลฯ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่พ่อแม่จำเป็นอย่างราบรื่น อีกประเด็นที่ลืมไม่ได้เลยก็คือการให้อาหาร เพราะช่วงวัยนี้ต้องการอาหารทุก 3-4 ชั่วโมง จำให้แม่นเลยนะ
2. เจ้าตูบวัยเยาว์ (6 สัปดาห์ – 6 เดือน)
ช่วงเวลานี้ค่อนข้างยาวนานเพราะกว่าจะเจริญเติบโตเต็มที่จนมีภูมิต้านทานโรคที่แข็งแรงนั้น ช่วงวัยดังกล่าวมักมีโรคภัยรวมถึงอุบัติเหตุมากล้ำกลายเสมอๆ อาจเป็นเพราะช่วงวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นเร่งเร้าให้พวกเขารับความเสี่ยงมากกว่าปกติ
ฉะนั้นหากจะต้องพยาบาลพวกเขาล่ะก็ สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือการจัดหากรงหรือคอกมาไว้เพื่อจำกัดบริเวณ ไม่อย่างนั้นกว่าจะหายจากอาการป่วยอาจกินเวลาเป็นเดือนๆ เพียงเพราะความว่าความซนของเขาเป็นเหตุก็เป็นได้นะจ๊ะ
อ้อ…อย่าลืมนะ ไม่ว่าพวกเขาอึหรือฉี่ที่ไหนอย่างไรโปรดตามไปดูและสังเกตอย่างใกล้ชิด ยิ่งเร็วเท่าไหร่คุณจะยิ่งทราบความผิดปกติได้เร็วเท่านั้น
3. เจ้าตูบชราภาพ
คำว่า “ชรา” นอกจากจะหมายความว่าแก่ด้วยอายุที่ล่วงเลยจนเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว ยังหมายความกลายๆถึงการเสื่อมสภาพทางด้านร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นมองไม่ค่อยจะเห็น เรียกไม่ได้ยิน ความจำสั้น ฯลฯ หลายบ้านที่เคยผ่านประสบการณ์เลี้ยงเจ้าตูบชราภาพคงเข้าใจสิ่งที่เราพูดถึงเป็นอย่างดี เมื่อสภาพร่างกายไม่เอื้อ ก็หมายความว่าคุณนี่แหละจะต้องช่วยเหลือพยาบาลเขาในทุกวิถีทางเท่าที่เป็นไปได้
หากเจ้าตูบชราภาพเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาล่ะก็ คุณจะต้องเพิ่มความเอาใจใส่เขาเป็นเท่าตัวทีเดียว นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่คุณควรทำก็คือปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาคำแนะนำอย่างละเอียดในการดูแลเขาเท่าที่จะทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นคุณจะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะเจ้าตูบชรามีแนวโน้มจะจำผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ บางครั้งอาการเจ็บป่วยอาจทำให้เขาหงุดหงิดจนแว้งกัดได้ง่ายๆ ฉะนั้นการป้องกันตัวเองไว้ย่อมดีกว่า
อย่างไรก็ตามคุณสามารถเตรียมการรับวัยอันล่วงเลยของเจ้าตูบคุณได้โดยการพาไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกปีอย่าได้ขาด เพื่อความสะดวกสบายในอนาคตและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา
อย่าลืมนะคะ…การพยาบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาโรคเท่านั้น หากคุณสามารถป้องกันก่อนที่เจ้าตูบจะเจ็บป่วยได้ย่อมเป็นการดีกว่า หมั่นพาเจ้าตูบของคุณไปพบสัตวแพทย์ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ทำวัคซีนให้ครบอย่าได้ขาด เพียงเท่านี้เจ้าตูบของคุณก็จะแข็งแรงสดใส ไม่หวั่นแม้วันมามากแล้วค่ะ
สุดท้ายนี้ขอฝากว่า ความไม่โรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ความรักและการดูแลเอาใจใส่จากผู้เป็นเจ้าของ ย่อมเอาชนะโรคภัยได้อย่างแน่นอนค่ะ ป่วยได้แต่อย่าท้อนะคะทุกท่าน
เนื้อหาโดย นิตยสาร PetMania
Credit : http://women.sanook.com/