เดือดส่งชาว‘อุยกูร์’กลับไปให้จีนยูเอ็นจี้สอบละเมิดกฎหมายสากลจ่อปิดสถานทูต-หวั่นลามรุนแรง
ชาวตุรกีคลั่งบุกถล่มสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล ไม่พอใจส่ง “ชาวอุยกูร์” กลับจีน หอบเอกสารเทเกลื่อนถนน ปลดธงไทย สถานทูตประกาศเตือนคนไทยระวังตัว-ทรัพย์สิน ปิดบริการกงสุลหลังมีข่าวม็อบจ่อบุกสถานทูตไทยกลางกรุงอังการา เตือนนักท่องเที่ยวไทยไปตุรกี แนะไกด์งดใช้ธงชาติไทยหวั่นซ้ำรอยชาวเอเชียถูกทำร้าย กระทรวงการต่างประเทศประสานให้ยกหูสายตรงผู้นำตุรกี สภาอุยกูร์โลกออกแถลงการณ์ จวกไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน กล่าวหาไทยบังคับตัวส่งกลับ ยูเอ็นตื่น ไทยส่งอุยกูร์กลับจีน จี้ไทยสืบสวนและยึดหลักช่วยเหลืออย่างสากล ด้าน “บิ๊กตู่” ยันส่งอุยกูร์กลับตามกฎหมายพันธกรณี ชี้ทุกอย่างเป็นเรื่องของตุรกี วอนเห็นใจไทยประเทศเป็นกลาง สถานทูตเปิดฮอตไลน์รับแจ้งเหตุด่วน
ปัญหาผู้อพยพชาวอุยกูร์ ที่เดินทางเข้าประเทศ ไทยอย่างผิดกฎหมายและถูกทางการไทยส่งตัวกลับไปยังประเทศจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่พอใจของชาวมุสลิมในตุรกี จนกลายเป็นเหตุระทึกขวัญต่อสถานที่ราชการไทยในต่างแดน
ชาวตุรกีเดือดบุกพังสถานกงสุลไทย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเวลาเที่ยงคืนเศษวันที่ 9 ก.ค. (ประมาณเวลา 05.00 น. ตามเวลาไทย) ได้เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้นกับสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี กลุ่มผู้ชุมนุมชาวตุรกีกว่า 200 คน ได้บุกเข้าไปภายในอาคารสำนักงานสถานกงสุลไทยนครอิสตันบูล ใช้ไม้และก้อนหินทุบกระจกแตก รื้อทำลายข้าวของเครื่องใช้พังเสียหาย แสดงความโกรธแค้นต่อรายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้อพยพชาวมุสลิมอุยกูร์ในไทยกลับประเทศจีน
สถานทูตประกาศเตือนคนไทยระวังตัว
ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ประเทศตุรกี ได้โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตฯ ประกาศเตือนคนไทยที่อาศัยอยู่ในตุรกี มีใจความว่า “เรียนพี่น้องชาวไทยในตุรกีทุกท่าน สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับข่าวสารว่า อาจจะมีการแสดงออกถึงความไม่พอใจไทย ในการดำเนินการเรื่องอุยกูร์ที่เข้าไทยโดยผิดกฎ หมาย ขอให้คนไทยในตุรกีระมัดระวังตัว เพิ่มมาตรการดูแลทรัพย์สินและร้านค้าของท่าน ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะให้ข่าวสารเป็นระยะ”
ให้หลีกเลี่ยงการโต้เถียง
จากนั้น 1 ชั่วโมงถัดมา สถานทูตไทยประจำกรุงอังการา ได้ออกประกาศอีกครั้งว่า “ขอให้คนไทยเพิ่มความระมัดระวังตัว เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2558 ประมาณเที่ยงคืนเศษ (ตามเวลาตุรกี) สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นครอิสตันบูล ถูกกลุ่มคนจำนวนหนึ่งบุกรุกเข้าไปในสำนักงาน มีการทำลายประตูและสิ่งของ เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการดำเนินการของไทยเรื่องชาวอุยกูร์ ที่เข้าไทยโดยผิดกฎหมาย ขอให้คนไทยทุกคนระวังตัว หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงหรือโต้เถียงใดๆ ในเรื่องนี้ และติดตามข่าวสารจาก สอท.โดยใกล้ชิด”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ก.ค. สถานทูตไทยได้เคยออกประกาศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกระแสต่อต้านจีน ต่อการกระทำของรัฐบาลจีนต่อชาวมุสลิมในจีน จนทำให้ชาวมุสลิมในตุรกีแสดงความไม่พอใจทั้งที่นครอิสตันบูล และกรุงอังการา โดยเตือนคนไทยให้เพิ่มความระมัดระวัง พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการชุมนุมมาครั้งหนึ่งแล้ว
ผู้ชุมนุมทำลายของ ปลดธงไทย
ขณะที่สำนักข่าวโดแกนของตุรกี รายงานว่า การชุมนุมที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นการระบายความแค้นครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สมาคมการศึกษาชาวเติร์กตะวันออก โดยผู้ชุมนุมกว่า 200 คน ที่บุกเข้าไปภายในสถานกงสุล ได้ทำลายข้าวของ ปลดธงชาติไทย นำเอกสารมาเทเกลื่อนถนน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 9 คน แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นกรณีความวุ่นวายต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในตุรกี โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจการกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ของรัฐบาลจีน ก็ก่อเหตุรุมทำร้ายกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชาวจีน ขณะที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านตุรกีก็ยังกล่าวสุมเชื้อไฟว่า เหตุรุมทำร้ายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าทั้งชาวจีนและชาวเกาหลีใต้ตาตี่เหมือนกัน
ห้ามไกด์ถือธงไทยนำนักท่องเที่ยว
เวลา 12.45 น. สถานทูตไทยฯ ได้ออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวไทย ที่เดินทางไปตุรกีในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่เดินทางเป็นกลุ่มว่า ควรเพิ่มความระมัดระวังในทุกๆ เมืองที่เดินทางไป หัวหน้าคณะนักท่องเที่ยว หรือทัวร์ไกด์ ไม่ควรใช้ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการชุมนุม ไม่ถ่ายภาพการชุมนุม ไม่ทำให้กลุ่มเป็นจุดสนใจ ทั้งนี้ เนื่องจาก 3 วันที่ผ่านมา กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียที่ถูกเข้าใจว่าเป็นชาวจีน ถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งพยายามเข้าทำร้าย แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณเมืองเก่า ในนครอิสตันบูล
สภาอุยกูร์โลกออกแถลงการณ์
ด้านเว็บไซต์ฟรีเรดิโอเอเชีย สื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รายงานว่า สภาอุยกูร์โลก (WUC) องค์กรเครือข่ายชาวอุยกูร์พลัดถิ่น ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 8 ก.ค. แสดงความกังวลต่อชะตากรรมของผู้อพยพชาวอุยกูร์ ที่ถูกกักตัวอยู่ในประเทศไทย โดยระบุว่า ผู้อพยพชาวอุยกูร์เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มน้อยในจีน ทั้งหมดหลบหนีภัยความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวมุสลิม อุยกูร์กับชาวจีนในมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกของจีน ซึ่งเกิดเหตุปะทะนองเลือดเมื่อปี 2554 เป็นต้นมา การที่รัฐบาลไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์ มากกว่า 90 รายกลับไปยังประเทศจีน ทั้งๆที่ยังมีปัญหาขัดแย้งรุนแรงจึงอาจเป็นการละเมิดหลักการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กล่าวหาไทยทำทารุณขณะส่งกลับ
แถลงการณ์ของสภาอุยกูร์โลกระบุด้วยว่า ผู้อพยพชาวอุยกูร์ที่รัฐบาลไทยส่งกลับไปยังประเทศจีน มีทั้งชาย หญิง และเด็ก ซึ่งถูกนำตัวมาจากศูนย์พักพิง 5 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ จ.ระยอง จ.สงขลา และ จ.ตราด โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปยังสนามบิน ในสภาพถูกใส่กุญแจมือ มีรถของกองทัพไทย 3 คันนำขบวนจนไปถึงสนามบินของกองทัพ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จากนั้นผู้อพยพที่เป็นหญิงและเด็กถูกนำตัวไปรอบนเครื่องบิน แต่ผู้อพยพชายหลายรายพยายามขัดขืน ทหารไทยจึงใช้สารเคมีพิเศษพ่นใส่จนผู้อพยพหมดสติ ก่อนจะบังคับนำตัวทั้งหมดขึ้นไปบนเครื่องบิน ส่งผลให้เด็กและสตรีชาวอุยกูร์ที่อยู่ในเหตุการณ์ หวาดกลัวและอยู่ในภาวะช็อก ด้วยเหตุนี้ สภาอุยกูร์โลกขอเรียกร้องให้นานาประเทศ ช่วยกันตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับส่งตัวผู้อพยพเช่นนี้ และเรียกร้องให้มีกระบวนการคัดกรองหรือส่งตัวผู้อพยพที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
“ฮิวแมน ไรท์วอทช์” จวกไทยละเมิดสิทธิ
นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์วอทช์” ประจำภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีว่า การกระทำของรัฐบาลไทย ที่บังคับส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนเข้าข่ายการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุผลทางการเมือง ทำให้ทางการไทยปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ไม่ต่างจากเหยื่อที่เสียสละ เพื่อเอาใจแก่พี่ใหญ่อย่างประเทศจีน รัฐบาลไทยละเมิดคำสัญญาที่ระบุว่า จะต้องให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง ของสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าเยี่ยมผู้อพยพก่อน ทั้งยังบังคับส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนซึ่งอยู่ในบัญชีประเทศที่ห้ามนานาชาติส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไป
ยูเอ็นเอชซีอาร์จี้ไทยสืบสวนด่วน
วันเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความตกใจ ต่อกรณีที่ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ กว่า 100 คน กลับไปยังประเทศจีน ในจำนวนนี้ มีทั้งผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย แม้ว่าบุคคลเหล่านั้น ไม่ต้องการเดินทางกลับจีนก็ตาม ทั้งนี้ ยูเอ็นเอช–ซีอาร์ได้ติดตามกรณีดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ได้เข้าพูดคุยกับผู้แทนรัฐบาลไทย ขอให้ไทยยืนยันว่าจะจัดการกับปัญหานี้ตามหลักกฎหมายสากลและผู้ลี้ภัยได้รับการคุ้มครอง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศที่ 3 แล้ว 172 คน แต่ต่อมากลับส่งผู้ลี้ภัยอีกกลุ่มหนึ่งไปยังประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายสากล จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไทยสืบสวนและเคารพหลักการพื้นฐานในการให้การช่วยเหลือ และขอให้รัฐบาลไทยเคารพความต้องการของบุคคลเหล่านั้น ในการจะไปในประเทศที่จะรับพวกเขา
เหตุรุนแรงไม่มีคนไทยบาดเจ็บ
ด้านความเคลื่อนไหวของประเทศไทยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ในเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีคนไทยบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบ ได้เตือนคนไทยให้เพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น ติดตามข่าวสารจากสถานทูตฯอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในตุรกีมีคนไทยอยู่ราว 1,300 คน
ไทยยันดูแลอย่างดียึดหลักสากล
เวลา 10.30 น. พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รอง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงเหตุการณ์มีผู้บุกทำลายสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล ว่า เราดูแลชาวอุยกูร์มาเป็นปีแล้ว มีการประสานงานการแก้ปัญหากับทั้งจีนและตุรกี โดยมีการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นชาวตุรกี ไม่มีคดีความ ประมาณ 170 คน ส่งกลับไปแล้วเมื่อปลายเดือน มิ.ย. สัญชาติจีนประมาณ 100 คน ส่งกลับไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค. อยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติอีกประมาณ 50 คน การส่งตัวชาวอุยกูร์ไปตุรกีแม้ทางการจีนจะไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าคนเหล่านี้ไปเคลื่อนไหวในจีน แต่เมื่อพิสูจน์สัญชาติแล้วว่าเป็นชาวตุรกีและไม่มีคดีความก็ต้องส่งกลับไปตามหลักสากล ส่วนที่ส่งไปจีน ก็ประสานให้ดูแลความปลอดภัยตามหลักสากลด้วยเช่นกัน ยืนยันว่าที่ผ่านมาไทยได้ดูแลบุคคลเหล่านี้ตามหลักมนุษยธรรม เหมือนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มาอยู่ในไทย ไม่มีการละเมิดหรือขัดหลักกติกาสากล ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆทำตามใจใคร แต่มีขั้นตอนการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ
บัวแก้วประสานนายกฯคุยผู้นำตุรกี
พล.ต.วีรชนกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ประท้วงที่ประเทศตุรกี อาจเป็นเพราะปัญหาการสร้างความรับรู้ ยืนยันว่าในระดับรัฐบาลมีความเข้าใจกันดี ดังนั้นตุรกีต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่ารัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกอย่างไร ส่วนคนไทยในตุรกีที่มีอยู่ 1,300 คน ได้แจ้งเตือนให้ระมัดระวังตัว พร้อมทั้งประสานตุรกีให้ดูแลความปลอดภัยทั้งหมดด้วย นายกฯมีความห่วงใยทั้งคนไทยและเจ้าหน้าที่สถานทูต ได้กำชับให้กระทรวงการต่างประเทศดูแลความปลอดภัย กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างประสานให้นายกฯได้พูดคุยกับผู้นำประเทศตุรกีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“ประยุทธ์” ยันส่งกลับตามขั้นตอน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงปัญหาการก่อเหตุรุนแรงที่สถานกงสุลไทยในตุรกี เนื่องจากการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทราบมาตั้งแต่ต้นแล้ว เวลานี้เราอย่าไปดูหรือห่วงแค่สถานกงสุล แต่ต้องดูว่าคนของเราปลอดภัยหรือไม่ ในส่วนของความเสียหายต้องเสียหายเป็นธรรมดา จะมากน้อยแค่ไหนต้องว่ากันไป เสียหายเมื่อไหร่ก็ซ่อมได้ วันนี้เราต้องดูความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ต้องมาดูว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะสาเหตุอะไร ไทยไปเกี่ยวข้องแค่ไหน อย่าลืมว่าวันนี้เราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ขอร้องว่าอย่าเอาเราไปเป็นคู่ขัดแย้งทุกเรื่อง เราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนต้องปฏิบัติตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งสิ้น เพราะมีกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์สัญชาติ มีความผิดอะไรหรือไม่ เราในฐานะประเทศคนกลางต้องตรวจสอบ และแยกส่งให้เกิดความชัดเจน ถ้าเราไม่ทำแบบนี้มันมีปัญหา ที่ผ่านมาเราก็ส่งกลับไปยังประเทศต่างๆตามขั้นตอน และหลักฐาน บางประเทศมีปัญหามากกว่านี้เสียอีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ขอให้มีการแก้ไขกันในระดับรัฐบาลดีกว่า ยืนยันว่าขณะนี้เรากำลังทำอยู่
อารมณ์เดือดวอนเห็นใจไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการดูแลความปลอดภัยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ของเราเข้าไปดูแลที่ตุรกีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มตอบอย่างมีอารมณ์ว่า“จะส่งใคร จะให้เจ้าหน้าที่ที่ไหนไป แล้วจะไปได้อย่างไร เอากำลังพลไปได้หรือไม่เล่า เรื่องนี้อย่าลืมว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลตุรกี ต้องไปถามทางตุรกีว่า ดูแลความปลอดภัยให้เราได้หรือไม่ วันนี้ผมได้คุยกับเอกอัครราชทูตตุรกีแล้ว ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศพูดคุยแล้วเช่นกัน ผู้นำไม่จำเป็นต้องคุยกันทุกเรื่อง กฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติมีอยู่แล้ว แต่สิ่งอื่นที่เกิดขึ้นมาเป็นการเรียกร้องเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทุกอย่างเมื่อดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ก็ให้ถือเป็นเรื่องปกติ ต้องเห็นใจประเทศ ไทยที่อยู่ตรงกลางบ้าง เราไม่อยากไปขยายความขัดแย้งอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเรายึดหลักของสิทธิมนุษยชนและเคารพกฎหมายต่างๆ แต่อย่าลืมว่าต้องเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศเขาด้วย ส่งไปแล้วมีปัญหามันก็ไม่ใช่ปัญหาของเราแล้ว เมื่อกลับไปตุรกี แล้วมีการไปล้อมสถานทูตจีนและทำลายเขาไปแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าควบคุมอะไรไม่ได้เลย แต่ผมก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องของผมก็ส่งไปให้แล้ว มันอยู่ที่กติกา”
ถ้ายังรุนแรงอาจสั่งปิดสถานทูตชั่วคราว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศประเมินดูว่า ถ้าสถานการณ์ยังเกิดความรุนแรงขึ้น อาจต้องปิดสถานทูตไทยในตุรกีชั่วคราว แล้วหาที่ทำงานใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย วันนี้ยืนยัน เรายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตุรกีอยู่ เราต้องช่วยกันลดแรงกดดันลงไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นมันจะกลับมาที่ตัวเราเอง อย่าลืมว่าเราเป็นประเทศที่อยู่กลางทาง เหมือนกรณีปัญหาการค้ามนุษย์โรฮีนจา เนื่องจากมีการหลบหนีข้ามแดนมาอยู่กับเรา เราต้องพิสูจน์สัญชาติว่าใครเป็นพวกไหน อย่างไร เกิดที่ไหน ต้องส่งกลับไปตามนั้น
ตอกกลับหรือจะให้เลี้ยงจนมีลูก 3 ครอก
เมื่อถามว่า เรามั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ที่ส่งไปจีนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “เขารับรองความปลอดภัย เขายืนยันจะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็จะปล่อยตัว หาที่ทำกินให้ ถ้ามีหลักฐานประจักษ์ชัดเจนก็ต้องดำเนินคดีตามความรุนแรงของโทษ อย่าไปคิดอะไรให้มันเรื่อยเปื่อย จะทำอย่างไรถ้าไม่ทำอย่างนี้จะทำแบบไหน หรือว่าจะเลี้ยงให้จนชาติหนึ่งมีลูกอีก 3 ครอกหรืออย่างไร โธ่! แต่ยืนยันว่าไทยปฏิบัติถูกต้องทุกประการ ไม่ต้องมากังวล ผมทำอะไรระมัดระวังอยู่แล้ว วันนี้ขออธิบายให้ชาวมุสลิมได้ทราบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปทำลายใครทั้งสิ้น ความมุ่งหวังของเราคือให้เกิดความสงบสุขมากที่สุด ก็เหมือนกับกรณีถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ก็ต้องไปดูตามพันธสัญญาของกฎหมาย เราจะไปทำตามใจตนเองไม่ได้ หรือจะเข้าข้างใดข้างหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ก่อน วันนี้ก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานต่างๆ ที่ได้มา หลักฐานใครพร้อมและชัดเจนมากกว่าก็ต้องส่งกลับไป”
ขอร้องสื่ออย่าขุดคุ้ย
เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้ตุรกีช่วยดูแลสถานทูตไทยอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า เขาก็ต้องดูแลเรา เราคงจะไปสั่งเขาไม่ได้ วันนี้ก็ได้ขอร้องเขาไปแล้วว่าให้ช่วยดูแลก็อยู่ที่ว่าเขาจะดูแลเราได้แค่ไหน มีขีดความสามารถแค่ไหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มนี้
เมื่อถามต่อว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวทำลายทรัพย์สินของทางการไทยเป็นกลุ่มไหน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “เป็นกลุ่มที่ส่งกลับไปนั่นแหละ กลับไปรวมกลุ่มกับคนที่อยู่เก่าอยู่แล้วที่ตุรกี เป็นเรื่องของตุรกีเขาเขาต่อสู้ตามแนวความคิดของเขาก็เป็นเรื่องของเขาทำไมจะต้องเอาไทยไปขัดแย้งกับตุรกี ขัดแย้งกับจีน หรืออุยกูร์ ความจริงไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับเราสักเรื่องเลย อย่าไปกังวลเรื่องนี้เลย เดี๋ยวมันก็คลี่คลาย ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวก็บานปลายไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้ไปถึงชาวมุสลิมกลายเป็นเรื่องใหญ่โต สื่อก็ช่วยกันทำให้เรื่องต่างๆ มันลดลงหน่อยได้หรือไม่ ผมไม่ได้ขัดแย้งกับมุมมองของสื่อ แต่ขอให้มองว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่ตรงไหน ความขัดแย้งอยู่ที่ไหน ถ้ามัวแต่ไปขยายความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ หาเรื่องไปเรื่อยๆ ปัญหาไม่มีวันจบก็ขอให้สื่อเลิกเสียที เรื่องไหนมีการอธิบายแล้วก็ขอให้จบ ไม่ต้องไปขุดคุ้ยให้มันได้อะไรขึ้นมา”
แฉไทยยอมส่งกลับเพราะถูกจีนกดดัน
ขณะที่นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่ากังวล ที่รัฐบาลไทยยอมตามแรงกดดันจากรัฐบาลจีน การบังคับส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์มากกว่า 90 คนกลับจีน ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะในจีนคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะถูกปฏิบัติอย่างทารุณ และที่ทางการจีนบอกว่าจะรับรองความปลอดภัยนั้นมองว่าเป็นเรื่องน่าขำ
ชาวอุยกูร์ยังถูกกักที่สะเดาอีก 23 คน
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดสงขลา เดินทางไปที่อาคารควบคุมผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ตรวจสอบเรื่องชาวอุยกูร์ว่ายังถูกกักขังอยู่หรือไม่ พบว่ายังมีชายชาวอุยกูร์อยู่ในห้องกักของ ตม.เพียง 23 คน จากทั้งหมด 270 กว่าคน โดยเมื่อต้นเดือนนี้ มีการส่งตัวชาวอุยกูร์ กลับไปไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร 118 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ตม.นายหนึ่งเผยว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลเท่านั้น เป็นเรื่องที่ไทยลำบากใจมาก หากส่งกลับไปให้จีนก็ต้องประสบปัญหากับชาวมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้และมุสลิมทั่วโลก หากส่งไปตุรกี ก็มีปัญหาความสัมพันธ์กับจีน การซื้อขายสินค้าเกษตรและการส่งออกก็จะลำบาก
ห่วงแรงงานไทยในตุรกี
ในส่วนแรงงานไทยในตุรกีนั้น นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า มีแรงงานไทยอยู่ในตุรกีทั้งหมด 459 คน ในจำนวนนี้เดินทางผ่านบริษัทจัดหางาน 2 บริษัท รวมทั้งหมด 242 คน และ มีแรงงานไทยเดินทางไปด้วยตนเอง 217 คน ไปทำงานด้านนวดแผนโบราณ 196 คน เป็นกุ๊กและช่างฝีมือ ได้ประสานบริษัทจัดส่งแรงงานทั้งสองบริษัท รวมทั้งแจ้งทางกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศให้ช่วยดูแลแรงงานไทย และให้ระมัดระวังอย่าไปเข้าในพื้นที่ชุมนุม ขณะนี้ทุกคนปลอดภัย
ผู้ชุมนุมฮือหน้าสถานทูตไทยในอังการา
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ที่ตุรกีว่า กระทั่งเวลา 17.20 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ออกประกาศอีกว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งอยู่หน้าบริเวณของสถานเอกอัครราชทูตฯ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอให้ประชาชนไทยงดเดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นการชั่วคราว หากมีเรื่องสอบถามเรื่องกงสุลโปรดติดต่อที่เบอร์ (90-312) 437 4318 หากเป็นกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินให้โทร. +90 533 641 5698 เท่านั้น
กต.สั่งสถานทูตไทยตุรกีเกาะติดสถานการณ์
ต่อมาเวลา 20.00 น. นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในตุรกี ติดตามสถานการณ์ และประสานงานกับทางการตุรกีในทุกระดับอย่างใกล้ชิด ให้ดูแลสวัสดิภาพและทรัพย์สินของคนไทย ขณะที่สถานทูตรายงานว่า ทางการตุรกีได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในตุรกีอย่างเต็มที่ โดยสถานทูตตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บจากเหตุบุกทำลายทรัพย์สินของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในอิสตันบูลแต่อย่างใด และกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยเข้าพบหารือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายตุรกีรับทราบข้อห่วงกังวลของฝ่ายไทย และยืนยันว่าทางการตุรกีให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของคนไทยและสถานเอกอัครราชทูตไทยในตุรกีอย่างยิ่ง ได้เพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยให้กับสถานเอกอัครราชทูตไทยแล้ว
นายเสขกล่าวด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศขอให้คนไทยในตุรกี รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่อยู่ในตุรกีหรือวางแผนเดินทางไปตุรกี เพิ่มความระมัด ระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตได้ที่หมายเลขสายด่วน Hotline +905336415698 และสามารถติดตามข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตได้ที่ https://www.facebook.com/rteankara
ขณะเดียวกัน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ได้พิจารณาและเห็นควรปิดฝ่ายกงสุล ในวันที่ 10 ก.ค.2558 เพิ่มอีก 1 วัน
ตุรกีประณามไทยเรื่องอุยกูร์
ต่อมาเวลา 20.58 น. ตามเวลาในไทย สำนักข่าวเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงต่างประเทศตุรกีออกแถลงการณ์ประณามไทย กรณีไทยส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ประมาณ 100 คนให้ทางการจีน ระบุเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และว่า เป็นเรื่องเศร้าที่รู้ว่าชาวมุสลิมอุยกูร์ข้างต้นถูกส่งไปประเทศที่ 3 โดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ ตุรกีจะพยายามตรวจสอบชะตากรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ต่อไป
Credit : http://www.thairath.co.th/