สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ว่า วารสารวิทยาศาสตร์ “เนเจอร์” เผยแพร่ผลการศึกษาของทีมนักโบราณคดี ระบุว่าซากฟอสซิลมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่ขุดพบในเขตเบอร์เตเล ในรัฐอะฟาร์ ทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย มีอายุอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับ “ลูซี” ฟอสซิลมนุษย์ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ “ออสตราโลพิเธคัส อะฟาเรนซิส” (Australopithecus afarensis) ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกขุดพบเมื่อเดือน มี.ค. 2554 ได้รับการตั้งชื่อว่า “ออสตราโลพิเธคัส เดอิเรเมดา” (Austrslopithecus deyiremeda) ซึ่งคำว่าเดอิเรเมดา ในภาษาท้องถิ่นของอะฟาร์แปลว่า ญาติใกล้ชิด โดยจุดที่พบฟอสซิลของลูซีเมื่อปี 2517 อยู่ห่างออกไปเพียงประมาณ 50 กิโลเมตร ชิ้นส่วนที่พบคือ ฟัน ขากรรไกรล่าง และขากรรไกรบน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับลูซีแล้ว เดอิเรเมดามีขากรรไรล่างที่แข็งแรงกว่า โหนกแก้มยื่นไปข้างหน้ามากกว่า ฟันกรามหนากว่า ขณะที่ฟันแก้มทั้งบนและล่างมีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งทำให้มนุษย์สายพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะใกล้เคียงมนุษย์สายพันธุ์โฮโม (Homo) ของเรามากกว่าที่ลูซีเป็น จากการตรวจสอบหาอายุด้วยวิธีการวิเคราะห์กัมมันตภาพรังสี (radioactive) ของดินที่อยู่โดยรอบ และใชิวิธีพาเลโอแม็กเนติก (paleomagnetic) หรือการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกในยุคต่างๆ จากตะกอนที่มีโลหะผสมอยู่ซึ่งเปรียบเสมือนปฏิทินที่บันทึกช่วงเวลาไว้ ระบุว่า ฟอสซิลนี้มีอายุเก่าแก่ราว 3.3 – 3.5 ล้านปี ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ลูซีที่ราว 2.9 – 3.8 ล้านปีก่อน ด้วยช่วงเวลาและสถานที่ นักวิจัยกล่าวว่า หากทั้ง 2 กลุ่มดำรงชีวิตด้วยทรัพยากรเดียวกัน หรือล่าเหยื่อกลุ่มเดียวกัน ทั้งคู่จะต้องเป็นศัตรูกัน แต่จากลักษณะฟันที่แตกต่าง จึงทำให้เชื่อได้ว่ากินอาหารที่ต่างกัน จึงอาจใช้ชีวิตด้วยทรัพยากรคนละประเภทและไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน การค้นพบครั้งนี้ ทำให้นักวิจัยสรุปเบื้องต้นได้ว่า ไม่ได้มีบรรพบุรุษของมนุษย์แค่กลุ่มเดียวอาศัยอยู่ในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าว ต้องมีอย่างน้อย 2 กลุ่ม เพราะเมื่อไม่นานมานี้มีการขุดพบฟอสซิลส่วนเท้าอายุราว 3.4 ล้านปี ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นมนุษย์กลุ่มไหน.
Credit : http://www.dailynews.co.th/