อดีตทูตสหรัฐฯ บอกกับคณะอนุกรรมการสภาคองเกรส เมื่อวันพุธ (22 เม.ย) แรงงานทาสยุคใหม่ยังคงมีอยู่ทั่วโลก ในนั้นรวมถึงการละเมิดลูกเรือประมงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยที่ส่งออกมายังตลาดอเมริกา
“มีรายงานมาหลายปีแล้วว่า อุตสาหกรรมประมงของไทยใช้แรงงานบังคับอย่างแพร่หลาย ทั้งในท้องทะเลที่มีคลื่นสูงและภายในโรงงานแปรรูปและบรรจุอาหารทะเล” มาร์ก ลากอน อดีตเอกอัครราชทูตด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับคณะอนุกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาคองเกรส
ลากอนซึ่งปัจจุบันเป็นประธานของฟรีดอมเฮาส์ องค์กรอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เผยต่อว่า ยังต้องรอดูว่ารัฐบาลของโอบามา จะใช้อำนาจกำหนดบทลงโทษไทยหรือไม่ ในนั้นรวมถึงห้ามนำเข้าอาหารทะเลของไทยมายังตลาดอเมริกา
อาวุธหลักของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ คือ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ที่จะจัดอันดับออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่ม 1 หรือ Tier 1 หมายถึงยอดเยี่ยม ส่วน Tier 2 ซึ่งต้องจับตามองและต้องพยายามให้มากขึ้น และ Tier 3 คือ กลุ่มบัญชีดำ ที่สามารถใช้มาตรการลงโทษต่างๆ
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสภาคองเกรส เรียกร้องรัฐบาลโอบามา ลงโทษอย่างหนักหน่วงต่อเหล่าประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
คริส สมิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกัน ชี้ว่า จีน ได้รับการยกระดับสู่ Tier 2 ในปี 2014 เร็วเกินไป พร้อมบอกว่า พม่า มาเลเซีย และ ไทย เป็นประเทศที่ต้องเพิ่มความพยายามให้มากกว่านี้ในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ข้ามแดน ขณะเดียวกัน หลายประเทศในแอฟริกา ก็เสี่ยงถูกลดระดับโดยอัตโนมัติในปีนี้ จนกว่าจะมีการแก้ไขด้านบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีและสืบสวนอย่างทันทีทันใด
เมื่อเดือนที่แล้ว สำนักข่าวเอพีรายงานว่าลูกเรือประมงหลายร้อยคนที่จับปลาเพื่อส่งออกจากไทยมายังสหรัฐฯ ถูกบังคับใช้แรงงานเสมือนแรงงานทาสยุคใหม่ และถูกขังอยู่ในกรงบนเกาะเบนจินาของอินโดนีเซีย จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ช่วยออกมาได้แล้วราว 370 คน แต่ยังมีคนตกค้างอีกหลายร้อยคน
ปลาที่เรือประมงเหล่านั้นหามาได้จะถูกนำเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผู้ค้าอาหารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ บางแห่ง อย่างเป็นวอล-มาร์ต, ซิสโก้ และ โครเกอร์ นอกจากนี้ ยังพบว่ามันยังเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์เลี้ยงบรรจุกระป๋องยี่ห้อดังๆ อาทิ แฟนซี ฟีสต์, เมียว มิกซ์ และไอแอมส์
บริษัทเหล่านี้ล้วนประณามการละเมิดแรงงานอย่างหนักหน่วงและใช้มาตรการป้องกันต่างๆ อย่างเช่นร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนนำตัวผู้รับเหมาช่วง (subcontractors) มาลงโทษ ส่วนไทย ซึ่งมียอดส่งออกอุตสาหกรรมประมง 7,000 ล้านดอลลาร์ และมีสหรัฐฯเป็นลูกค้าสำคัญ อ้างว่าได้ใช้มาตรการเข้มข้นยกเครื่องการปฏิบัติด้านแรงงานมาหลายปีแล้ว แต่เหตุล่วงละเมิดต่างๆ ก็ยังมีอยู่
ฮเลียง มิน วัย 32 ปี หนึ่งในแรงงานที่เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย ให้การช่วยเหลือออกมาจากเกาะเบนจินาช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา บอกระหว่างให้ปากคำต่อสภาคองเกรส ขณะรอการส่งตัวกลับพม่าว่า “ผมขอบอกกับสมาชิกสภาคองเกรสเลยว่า ที่ผมอยากกล่าวถึงก็คือกะโหลกและกระดูกมนุษย์ของชาวประมงที่ตายในทะเลล้วนเป็นคนพม่า” เขากล่าว “ในนามของชาวประมงทุกคนที่นี่ ผมอยากร้องสภาคองเกรสให้สหรัฐฯหยุดซื้อปลาจากไทยทั้งหมด ถ้ามันติดป้ายว่ามาจากไทย สหรัฐฯก็ควรเลิกซื้อมัน”
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ นับเป็นข่าวร้ายซ้ำเติมอุตสาหกรรมประมงไทย หลังจากเมื่อวันอังคาร (21 เม.ย.) คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำเตือนแก่ไทย จากการที่ล้มเหลวในการปราบปรามประมงเถื่อน พร้อมทั้งขู่จะเลิกนำเข้าอาหารทะเลหากไม่ยอมดำเนินการแก้ไข
นับตั้งแต่ปี 2010 ทางสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อหลายชาติที่ไม่ยอมทำตามมาตรฐานสากลที่ป้องกันการจับปลามากเกินไป อาทิ ตรวจจับเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตในน่านน้ำของตน รวมถึงกำหนดบทลงโทษเพื่อหยุดยั้งการจับสัตว์น้ำแบบผิดกฎหมาย
ไทยได้รับการเตือนที่เรียกว่า “ใบเหลือง” สำหรับความล้มเหลวในการพิสูจน์ให้เห็นถึงที่มาและการจับได้อย่างถูกกฎหมายของปลาที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป
คำแถลงของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ไทยมีเวลา 6 เดือนในการทำแผนปรับปรุงแก้ไขให้เกิดผล เพื่อนำเสนอและชี้แจงข้อบกพร่องต่อกระบวนการตรวจสอบ ควบคุมและลงโทษของอียู
Credit : http://www.manager.co.th/Around