รอยเตอร์ – ภูเขาไฟคาลบูโกทางตอนใต้ของชิลีเกิดปะทุอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี ปลอดปล่อยกลุ่มควันและเถ้าถ่านหนาทึบขึ้นสู่ท้องฟ้าเกือบ 20 กิโลเมตรเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) จนสำนักงานบรรเทาเหตุฉุกเฉินแห่งชาติชิลี (ONEMI) ต้องออกประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุด
ภูเขาไฟคาลบูโกซึ่งอยู่ห่างจากกรุงซันติอาโกไปทางใต้ราว 1,000 กิโลเมตร ใกล้เมืองเปอร์โตวาราสซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกิดปะทุขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ราว 04.00 น.วันนี้ตามเวลาในไทย)
ทางการชิลีได้สั่งอพยพประชาชนในรัศมี 20 กิโลเมตร และสั่งให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอนชั่วคราว
เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมามีชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วประมาณ 4,000 คน ขณะที่ประธานาธิบดี มิเชล บาเชเล็ต แห่งชิลี จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยในวันนี้ (23)
ล่าสุดยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต สูญหาย หรือได้รับบาดเจ็บ แต่ โรดริโก เปนญาอีลิลโล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยชิลี ขอร้องให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรีบอพยพออกมาเสียก่อน และเตือนให้ระวังอันตรายจากน้ำและเศษหินที่อาจไหลลงมาตามลาดภูเขาไฟสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำโดยรอบ
กระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เถ้าถ่านและควันจากภูเขาไฟลอยข้ามแดนไปถึงอาร์เจนตินา
กาเบรียล โอรอซโก นักภูเขาไฟวิทยาจากสำนักงานธรณีและเหมืองแห่งชิลี ให้สัมภาษณ์ว่า “ในกรณีนี้เถ้าถ่านภูเขาไฟลอยขึ้นไปเป็นระยะทางสูงมาก จึงมีความเสี่ยงที่มันจะตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงเพราะน้ำหนักของมันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นมวลก๊าซพิษและเศษหิน (pyroclastic flow)” ที่มีความร้อนจัด และสามารถทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเส้นทางที่มันผ่านไปด้วยความเร็วสูงถึง 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สายการบิน LATAM ประกาศยกเลิกเที่ยวบินไป-กลับเมืองเปอร์โตมอนต์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในแถบนั้น เนื่องจากเถ้าถ่านภูเขาไฟอาจทำให้เป็นอันตรายต่อการบิน
ชิลีตั้งอยู่ในแนววงแหวนไฟแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก และมีเทือกภูเขาไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินโดนีเซีย
Credit : http://www.manager.co.th/Around