ขนมที่ทำมาจากแป้ง นำมาประกบคู่กันแล้วทอดในน้ำมันจนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล กินคู่กับกาแฟในยามเช้า กินคู่กับโจ๊ก กินคู่กับน้ำเต้าหู้ หรือจะจิ้มนมข้นหวาน จิ้มสังขยา ก็อร่อยไม่แพ้กัน
อธิบายมายาวขนาดนี้หลายคนคงจะนึกภาพออกแล้วว่าขนมที่ว่าก็คือ “ปาท่องโก๋” ที่ในบ้านเราหากินกันได้ทั่วไปตามท้องถนนไปจนถึงร้านอาหารต่างๆ ซึ่งขนมชนิดนี้คนไทยเราเรียกกันว่า “ปาท่องโก๋” แต่รู้หรือไม่ว่าอันที่จริงแล้ว ถ้าจะเรียกกันให้ถูกต้องตามต้นฉบับภาษาจีนนั้นจะต้องเรียกว่า “อิ่วจาก้วย”
คำว่า “ปาท่องโก๋” ในภาษากวางตุ้ง แปลว่า ขนมน้ำตาลขาว เป็นขนมชนิดหนึ่งของคนกวางตุ้ง รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม เนื้อสัมผัสคล้ายกับขนมถ้วยฟู ส่วนคำว่า “อิ่วจาก้วย” เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ขนมทอดน้ำมัน
แต่เหตุที่คนทั่วไปเรียกขนมนี้ว่าปาท่องโก๋ มีการสันนิษฐานกันว่า ในสมัยก่อนนั้น คนที่มาขายขนมมักจะขายขนมรวมๆ กันหลายอย่าง ซึ่งก็มีทั้งปาท่องโก๋และอิ่วจาก้วยรวมๆ กันไป คนขายอาจจะร้องขายปาท่องโก๋เป็นอย่างแรก และต่อด้วยขนมอย่างอื่น แต่คนไทยเกิดจำได้เฉพาะชื่อแรก เมื่อไปซื้อขนมมากินก็ได้อิ่วจาก้วยซึ่งเป็นขนมทอดมาทุกที จึงอนุมานว่าขนมทอดแบบนี้มีชื่อว่าปาท่องโก๋ตามที่คนขายพูด แล้วก็เรียกกันต่อๆ มาว่า “ปาท่องโก๋”
สำหรับคนที่ไปชิมปาท่องโก๋ในร้านติ่มซำแถวๆ ภาคใต้ ก็อาจจะได้ปาท่องโก๋ในลักษณะแป้งขาวๆ มาแทน เพราะคนแถบนั้นยังเรียกขนมทอดน้ำมันว่า “อิ่วจาก้วย”อยู่เหมือนเดิม
แต่สำหรับร้านขายปาท่องโก๋ทั่วๆ ไป ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า ขนมทอดน้ำมันแบบนี้เรียกว่า “ปาท่องโก๋”
Credit : http://www.manager.co.th/Food