ในแต่ละช่วงวัยของสุนัขมีความต้องการอาหารในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของสุนัข ประเภทของกิจกรรมในแต่ละวัน หรือช่วงอายุที่แตกต่าง ก็จะมีความต้องการสารอาหารในปริมาณที่แตกต่างกันด้วย เป็นต้นว่า ลูกสุนัขจะมีความต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปใช้เสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อในการเจริญเติบโตต่อไป โดยเราอาจแบ่งเวลาในการให้อาหารลูกสุนัขออกเป็น 3 มื้อต่อวัน จนกระทั่งลูกสุนัขมีอายุ 5 เดือนขึ้นไป จึงค่อยปรับอาหารเป็น 2 มื้อต่อวัน
การให้อาหารสุนัข แนะนำว่าควรให้เป็นเวลาที่แน่นอน เช่น ให้อาหาร 2 มื้อ ในเวลา 8.00 น. และ 16.00 น. โดยวางทิ้งไว้ 15-20 นาที หากไม่กินก็ให้ยกขึ้น เพื่อให้สุนัขเรียนรู้การกินอาหารในเวลาที่แน่นอน แต่เมื่อถึงเวลาแล้วยังไม่กิน เราจะได้รู้ว่าสุนัขมีความผิดปกติหรือไม่สบาย นอกจากนั้น ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ทั้งวัน หรือบางบ้านจะเติมอาหารไว้เต็มชามตลอดเวลา
ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะจะส่งผลให้สุนัขมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่เป็นเวลา เกิดการทำงานที่ผิดปกติของทางเดินอาหาร เป็นต้นว่า มีการอาเจียน จากภาวะที่กรดในกระเพาะหลั่งออกมามากจนระคายเคืองทางเดินอาหาร หรือกินเยอะจนอ้วน ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก ที่อาจจะรับน้ำหนักมากเกินไป จนบาดเจ็บหรือฉีกขาดตามมาภายหลังได้ หรือแม้แต่เกิดการเจริญที่ผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่
ในขณะเดียวกันก็ไม่แนะนำให้เจ้าของให้อาหารคนกับสุนัข เพราะสิ่งที่สุนัขอยากกิน อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นเจ้าของควรเป็นผู้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้สุนัข ตามกำลังและความเหมาะสมของแต่ละบ้าน โดยการให้อาหารคนจะทำให้สุนัขเกิดทางเลือกในการกินอาหาร และจะเกเรพาลไม่ยอมกินอาหารของสุนัขเองด้วย รวมถึงสารอาหารที่ได้รับก็อาจไม่ครบถ้วนตามหมวดหมู่ อีกทั้งเมื่อถึงเวลาอาหาร สุนัขจะมาขออาหารบริเวณโต๊ะอาหาร วิธีแก้คือให้อาหารสุนัข 2 มื้อต่อวัน ในเวลาเดียวกับอาหารมื้อเช้าหรือเย็นของเราค่ะ
มาถึงเรื่องการให้อาหารที่สุนัขควรจะได้รับในแต่ละช่วงวัย จากลูกสุนัขเข้าสู่ช่วงวัยของสุนัขโตเต็มที่นั้น หากเป็นสุนัขพันธุ์เล็กจะอยู่ที่อายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป ส่วนในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่จะนับที่อายุ 1 ½ ปีขึ้นไป ซึ่งเจ้าของสุนัขมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรอาหารให้กับสุนัขอีกครั้ง เนื่องจากความต้องการสารอาหารในลูกสุนัขกับสุนัขโตมีความแตกต่างกัน ดังเช่นที่กล่าวไว้ในตอนแรกว่าสุนัขโตต้องการสารอาหาร ไว้เพียงเพื่อการมีกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และนำไปใช้ในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ในร่างกายอีกส่วนหนึ่ง
โดยวิธีการเปลี่ยนอาหารจากสูตรลูกสุนัขมาเป็นสุนัขโต จะต้องค่อยๆ เปลี่ยน ห้ามเปลี่ยนในทันที เพราะอาจส่งผลให้สุนัขบางตัวมีอาการถ่ายเหลว ท้องเสียได้ เนื่องจากสัดส่วนของสารอาหารที่มีอยู่ในสูตรอาหารแต่ละช่วงวัยนั้นมีความแตก ต่างกัน ซึ่งหลักการเปลี่ยนอาหารนี้ จะทำเหมือนกันทั้งในการเปลี่ยนอาหารจากสูตรลูกสุนัขมาเป็นสูตรสุนัขโต และการเปลี่ยนอาหารจากยี่ห้อที่หนึ่ง มาเป็นอาหารยี่ห้อที่สอง
วิธีการคือเพิ่มปริมาณอาหารสูตรสุนัขโตเข้าไป ¼ ของอาหารทั้งหมด รวมกับอาหารสูตรลูกสุนัขเดิมอีก ¾ โดยให้อาหารในอัตราส่วนนี้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจึงเริ่มปรับสัดส่วนอาหารสูตรสุนัขโตและสูตรลูกสุนัขเป็นครึ่ง ต่อครึ่ง ให้แบบนี้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้น เพิ่มอาหารสูตรสุนัขโตเป็น ¾ และลดปริมาณอาหารสูตรลูกสุนัขให้เหลือเพียง ¼ คงไว้อีก 2-3 วัน จนสุดท้ายคือปรับเป็นอาหารสูตรสุนัขโตเข้ามาแทนที่ทั้งหมด ซึ่งในกรณีของการเปลี่ยนยี่ห้ออาหาร คุณหมอก็แนะนำให้ใช้วิธีเดียวกัน เท่านี้เราก็สามารถปรับเปลี่ยนอาหารให้กับสุนัขได้โดยไม่ส่งผลต่อสุขภาพใดๆ กับสุนัขแสนรักแล้วค่ะ
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.istockphoto.com/
Credit : http://women.sanook.com/