มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ) วิทยาเขตระยอง ใช้เทคโนโลยีนำสมัย สร้างต้นแบบการจัดการขยะ และของเสียแบบผสมผสาน ใช้หลักการ 3R ลดการใช้ ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล นำร่องบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมุ่งหวังเป็นองค์ความรู้สู่ อปท.โรงเรียน และชุมชนนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยให้มีความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ได้เปิดตัว “โครงการขยะและของเสียแบบผสมผสาน” ภายใต้แนวคิด “Zero Waste Today,Green Campus Tomorrow ขยะเป็นศูนย์ เริ่มต้นที่มือเรา” มีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ครูโรงเรียนจากต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ร่วมเปิดตัวโครงการฯ และมีนายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ รักษาการรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต มจพ.ระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.สันชัย อินทพิชัย รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการมหาวิทยาลัย มจพ.ระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สไบทิพย์ ตุงคะมณี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มจพ.ระยอง ร่วมเปิดตัวโครงการฯ
โดยภายในงานมีกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การจัดการขยะในยุค Thailand 4.0” และกิจกรรมเยี่ยมชมสถานีโซลาร์ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้โครงการการจัดการขยะแบบผสมผสาน และสถานีรวบรวมขยะรีไซเคิล ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจุบัน มจพ.ระยอง มีนักศึกษากว่า 5,000 คน มีขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันละประมาณ 1,000 กิโลกรัม จากปัญหาดังกล่าว ทาง มจพ.ระยอง ได้มีแนวคิดที่จะทำให้การจัดการขยะให้มีความยั่งยืน และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว(Green University) จึงได้แนวทางการจัดการขยะภายใต้แนวคิด “Zero Waste Today,Green Campus Tomorrow ขยะเป็นศูนย์ เริ่มต้นที่มือเรา” โดยส่งเสริมหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใหม่ และลดปริมาณของเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ตามหลักการ 3R ลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล จึงได้สร้างระบบต้นแบบผสมผสานขึ้น ได้แก่ ชุดคัดแยกขยะ Smart Trash Bin เพื่อคัดแยกของเสียตามประเภทขยะที่เกิดขึ้นจริงใน มจพ.ระยอง มีระบบผลิตก๊าชชีวภาพและระบบผลิตสารปรับปรุงคุณภาพดินจากขยะอินทรีย์ และรวมถึงต้นแบบเตาเผาขยะแบบไร้มลพิษ ซึ่งการจัดการทั้งหมดเป็นองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบุคลากรของ มจพ.ระยอง และจะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่หน่วยงานภาครัฐ อปท.สถานศึกษาและชุมชน ได้นำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยให้มีความยั่งยืนต่อไป…
อัจฉรา วิเศษศรี จ.ระยอง